หลักภูมิสังคม โดย พ.อ.ชาติวัฒน์ คงอุทัยสกุล

วันพฤหัสบดีที่ 04 มีนาคม 2021 เวลา 16:58 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ประชาสัมพันธ์ - ประชาสัมพันธ์
พิมพ์

หลักภูมิสังคม

วันนี้คำสำคัญคือ ภูมิสังคม ครับ ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ซึ่งภูมิสังคม คือ ความมั่นคงในการที่จะมีกิจกรรมพื้นฐานของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าสภาพสังคมในพื้นที่นั้นๆเป็นตลาดในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยมีฐานทรัพยากรหลักจากภูมิศาสตร์หรือภูมิประเทศ ซึ่งหากมองตามเส้นทางของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องเริ่มจากพอกิน พอใช้ ก่อน ดังนั้นการออกแบบและวางแผนกิจกรรมต่างๆในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชน จะต้องออกแบบตามสภาพสังคม ผมขอเรียกว่า Primary Demand หรือความต้องการหลัก รวมทั้งการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆด้วยว่าเป็นอย่างไรและมีวงจรภูมิสังคมคือ น้ำ ดิน เกษตร พลังงาน ป่าไม้กับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดีพอแล้วหรือยัง ในการที่จะเป็นฐานทรัพยากรหลัก บวกกับสภาพสังคมของชุมชนของพื้นที่นั้นๆว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร บริโภคอะไรเป็นอาหารหลักตลาดชุมชนอะไรขายดี ใช้ของอุปโภคอะไรมาก อะไรบ่อย บ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีลักษณะอย่างไร ชอบทำกิจกรรมอะไรเป็นประเพณี มีคุณลักษณะสังคมเป็นแบบใด เช่นครอบครัวใหญ่ หรือครอบครัวเล็ก เมื่อมีข้อมูลทั้งสองเรื่องสำคัญนี้เราจึงจะมาออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดระบบการผลิตภายพื้นที่ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานได้และนี่คือขั้นตอนแรกของการพัฒนาเพื่อให้เกิด การพอมี พอกิน พออยู่ ในชุมชนของพื้นที่นั้นๆ  มันคือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า ชุมชนนั้ันๆจะมีระบบการผลิตเบื้องต้นสำหรับการพึ่งพาตนเอง แต่จะตามมาด้วยอีก 2 ขั้นคือการสร้างสังคมนั้นๆให้เข้มแข็งอันจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจชุมชนที่แข็งแรง นั่นคือ ขั้นการสร้างเครือข่ายด้วยการ แจกและการแลก ที่ไม่ต้องใช้สิ่งแทนค่าที่เรียกว่า เงินตรา การแจกคือ การแบ่งปัน การให้ การเกื้อกูล การสนับสนุนซึ่งกันและกันของชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ความรู้ ความสามัคคีในชุมชน การแลกคือการแลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิต ความรู้ ซึ่งมันเป็นการสร้างมูลค่าของสังคม ที่แท้จริง จะทำให้เกิดการแข่งขันภายในที่มีคุณภาพบนพื้นฐานคุณธรรมที่ดี และเป็นไปตามลักษณะของสังคมนั้นๆ จาก 3 ขั้นนี้จะทำให้เกิดตลาดภายในชุมชนและพื้นที่นั้นๆที่เข้มแข็งมาก นั่นคือการมีเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งจริงๆ และสุดท้ายสิ่งต่างที่เหลือจากผลผลิต การบริโภค และอุปโภคจะสามารถสร้างตลาดภายนอกได้อย่างมั่นคงและมีมูลค่าอย่างยั่งยืน นั่นคือ พอขาย ซึ่งปัจจุบันความคิดคนส่วนใหญ่จะวิ่งตามตลาดและพยายามผลิตของที่ตลาดต้องการ โดยไม่มีความเข้าใจว่าตลาดคืออะไร เพราะเอาเรื่องรายได้และเงินตราเป็นหลักคิดจึงข้าม 3 ขั้นแรกไปหมด

สรุป จากหลักแนวคิดภูมิสังคมและเส้นทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (1.พอมี พอกิน พอใช้ 2.พอแจก 3.พอแลก 4.พอขาย) ตามที่ผมได้กล่าวมาในข้างต้นคงจะพอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ เมื่อ 4 ธ.ค.2541 มีความสรุปตอนหนึ่งเกี่ยวกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยว่า “เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ” จะสามารถเป็นไปได้อย่างไร ด้วยอะไรและมีกรอบแนวคิดในการวางแผนได้จากอะไร ซึ่งวันนี้มีน้อยคนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริงจึงไม่เกิดแผนงานและโครงการที่จะบรรลุพระราชประสงค์อย่างแท้จริงนั่นคือ การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

ชาติวัฒน์ คงอุทัยสกุล

3 ก.พ.64