ขับเคลื่อนท่องเที่ยวลดเหลื่อมลํ้า พันธกิจ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’

วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2017 เวลา 00:00 น. วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ บทความ - ท่องเที่ยว
พิมพ์

ขับเคลื่อนท่องเที่ยวลดเหลื่อมลํ้า พันธกิจวีระศักดิ์ โควสุรัตน์

การกลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯอีกครั้ง แม้จะผ่านมากว่า 9 ปีแล้ว วันนี้มองว่าความเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างไร และเราจะเห็นภาพการขับเคลื่อนในเรื่องใดบ้างที่จะเกิดขึ้น อ่านได้จากสัมภาษณ์พิเศษ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

**
กระจายรายได้สู่ชุมชน
ภาพการท่องเที่ยวของไทยวันนี้ ในแง่ของการสร้างรายได้เข้าประเทศ สมัยก่อนต้องลุ้นให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ แต่วันนี้เราคลายความกังวลเรื่องนั้นไปแล้ว เพราะปัจจุบันไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และยังมีรายได้ท่องเที่ยวอยู่ในอันดับต้นของโลก รวมถึงได้รับรางวัลนานาชาติมากมาย แสดงว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเราโตเพียงพอ เข้มแข็งขึ้น ไม่ได้ดูบอบบางเหมือนในอดีต

ดังนั้นการท่องเที่ยวควรเป็นเครื่องมือในการรับใช้เป้าประสงค์ของชาติ ไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นเครื่องมือผลักดันลดความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ของประเทศด้วย อะไรหรือกิจกรรมใดที่เราจะส่งเสริมในเมืองรอง แหล่งรอง การขยายกิจกรรมจากแหล่งหลักไปแหล่งรอง

ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการด้านการคลัง ที่จะส่งเสริมในเรื่องนี้ การสร้างสปิริตให้เกิดขึ้น การดึงให้เกิดการเดินทางเข้าไป ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องที่อยู่ในชุมชนเอาออกมาให้เห็น ยิ่งในโลกยุค Gen Y ที่ เติบโตมากับโลกโซเชียลภาพ 1 ภาพหรือประโยคสั้นๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เป็นโอกาสให้เกิดการท่องเที่ยวได้ เราต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดการมองมุมกว้าง คือการส่งต่อโอกาสให้กับคนจำนวนมาก เปลี่ยนมิติอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่ส่งนักท่องเที่ยวไปซื้อของมากๆ เพื่อที่จะได้ส่วนต่าง ซึ่งก็เป็นธุรกิจท่องเที่ยวในอีกมุมหนึ่

วันนี้เราจะเห็นว่ามีคนเสียสละไม่ใช่ลดหย่อนภาษี แต่อยากร่วมทำความดีให้แผ่นดิน อย่าง โครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เรื่องของการ ท่องเที่ยวก็เหมือนกัน การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ไปพักผ่อนอย่างเดียว อยากไปทำความดีในชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงด้วยก็มี ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องเข้าไปพัก เพราะที่พักในชุมชนบางแห่งก็ยังไม่พร้อมให้เข้าพัก แค่ทำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชุมชน เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ให้รอยยิ้ม ให้กำลังใจชุมชน ก็ถือว่าช่วยลดความเหลื่อมลํ้าได้ระดับหนึ่งแล้ว และยิ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายในชุมชน ก็จะเกิดการกระจายรายได้

**
ตั้งคลินิกท่องเที่ยว
นอกจากนี้จะเห็นว่าวันนี้สิ่งที่ทำได้ดีขึ้น คือ ไทยมีนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มากขึ้น แสดงว่าเราเลือกกวักนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น แต่ซัพพลายของเรายังเหมือนเดิม เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบราชการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ที่ยังไม่ค่อยได้ปรับมากนัก อย่างในอดีตการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยทำงานได้ครอบคลุม แต่พอเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ถูกยุบและจำกัดให้ทำเฉพาะด้านตลาด ซึ่งไปลดบทบาทเขา เพื่อให้หน่วยราชการที่ตั้งขึ้นมีภารกิจ โดยภารกิจพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกลายเป็นหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว ที่เมื่อก่อนไม่มีข้าราชการอยู่ในต่างจังหวัดเลยแม้จังหวัดเดียว

โครงสร้างนี้น่าจะได้แก้ไข แต่การจะไปแก้โครงสร้างเหมือนเป็นการทุบบ้าน ฝุ่นตลบ จึงใช้วิธีแก้ไขที่ทำได้ทันที คือให้ททท.จับมือกรมการท่องเที่ยวและสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่เดี๋ยวนี้มีครบทุกจังหวัด ร่วมกันจัดตั้ง คลินิกท่องเที่ยวซึ่งเป็นคณะทำงาน เพื่อให้บูรณาการทำงานร่วมกัน ดึงตำรวจท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) มาร่วมด้วย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาท่องเที่ยว

ผมคิดว่าถ้าเราลดกระจก เปิดรั้ว เข้าใจในข้อจำกัด ยอมรับและไว้วางใจกัน สร้างวัฒนธรรมองค์กรมองเป้าหมายเดียวกันและการร่วมมือกับพื้นที่ องค์กรภาคประชาชน ก็จะทำให้เราช่วยกันซ่อมแหล่งท่องเที่ยวแก้ไขปัญหาขยะ การจราจรได้ ซึ่งถือเป็นการถักทอการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยไม่ติดกับความเป็นกรม และควรจะเลิกเสียทีกับการออกหนังสือเชิญเอกชนตอนเช้า มาประชุมตอนบ่าย

ทั้งนี้คลินิกท่องเที่ยว จะผลักดันการซ่อมและสร้าง 1.ถ้าลงพื้นที่ไหนหรือแหล่งท่องเที่ยวใด หากพบว่ากำลังต้องซ่อม คลินิกไม่ช่วยคิดวิธีซ่อม ปล่อยให้ ซ่อมเอง แต่ถ้าเห็นองค์ความรู้จำกัด คลินิกก็จะเป็นพี่เลี้ยง หรือ 2.ถ้าที่นั่นไม่คิดซ่อม แต่กำลังสร้าง ธุรกิจขึ้น เช่น จะทำอี-คอมเมอร์ซ แต่อาจทำเองไม่เป็น ก็จะประสานหรือยืมหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

**
มุ่งลงพื้นที่ใม่เน้นเปิดงาน
ผมมาที่นี่เพื่อปรับฐาน ไม่ได้หวังความนิยม ประกาศตัวเลขปีนี้เท่าไหร่ เรื่องพวกนี้มีคนบอกได้ให้เขาบอกไป ผมจะเน้นการทำงานในภาคสนาม ลงไปสัมผัสในพื้นที่ ทำงานแบบหัวเข่า มือ เปื้อนดิน มากกว่ายืนที่โพเดียมเปิดงาน เพื่อดึงให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ดูแลและแก้ปัญหาต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นขยะ นํ้าเสีย ลงพื้นที่ เพื่อไปทำให้แผนพัฒนาท่องเที่ยวตามคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งผมอ่านแล้วคิดว่าแผนพอใช้ได้ แต่ต้องลงไปสัมผัสแปลจากแผนมาทำให้เกิดความเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ผมยังมองว่าคลัสเตอร์ท่องเที่ยวที่มีอยู่ ยังสามารถทำให้มีความหมายได้กว้างขึ้น ไม่ใช่แบ่งโดยใช้กายภาพเป็นหลัก ปัจจุบันดิจิตอลเกิดขึ้น แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีจังหวัดติดกัน ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านการเดินทางทางอากาศเป็นต้น


ส่วนการทำงานต่างๆ ตามแผนพัฒนาท่องเที่ยวที่วางไว้ใน หลายแผนที่เกิดขึ้น ผมก็มองว่าเดินทางถูกทาง เพราะเขียนแผน การพัฒนาสอดคล้องไปในช่วงปีเดียวกันคือปี 2560-2564 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มสื่อสารเรื่องท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ทำไป ผมไม่มีเวลามาเปลี่ยนกระดาษรื้อโครงการ แต่ระหว่างที่ทำมีอะไรยินดีให้ปรับปรุงก็ประสานหารือกันได้ และด้วยความที่งานด้านท่องเที่ยวกว้างใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง, คมนาคม, เกษตร, ศึกษาฯ เราก็ควรเดินไปหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อบอกเขาว่าเราเป็นเครื่องมือให้เขาได้อย่างไร จะทำให้เกิดความเต็มใจและการร่วมมือที่ยั่งยืน

**
หนุนพัฒนาบุคลากร
อีกเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเราฝากเรื่องนี้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพียงด้านเดียว ก็มีคนเดินผิดเดินถูก ที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาด้านท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ก็ไม่เคยได้คุยกัน ผมก็มองว่าควรมีการตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวขึ้น โดยรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องด้านการท่องเที่ยว มาจัดหมวดหมู่ เชิญสถาบันการศึกษามานั่งคุยพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่จะก้าวไปไกลๆ ตอบโจทย์การทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างที่ผู้ประกอบการต้องการ ไม่ต่างคนต่างเดิน

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีนี้ภายใต้การทำงานของรมว.ท่องเที่ยวคนใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2017 เวลา 12:06 น.