ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๖๖. ช่วยกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยว จากนักท่องเที่ยว และผู้หากินกับนักท่องเที่ยวที่ไร้ความรับผิดชอบ

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - ท่องเที่ยว
พิมพ์

ดังเล่าในบันทึกที่แล้ว ว่าเกือบเที่ยงวันเสาร์ที่ ๒๙มิ.ย. ๕๖ ผมไปพบสภาพที่ทั้งทางการไทย คนไทยผู้หากินกับนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวฝรั่ง  ต่างก็ร่วมกันทำลายหินย้อยก้อนหนึ่งที่ชายหาดถ้ำพระนาง ที่เป็นส่วนหนึ่งของหาดไร่เลย์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  หรือโดยไม่รับผิดชอบ

ผมสงสัยว่า คนไทยเราหิวเงินจากการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือเปล่า  จนเราไม่เอาใจใส่ปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า ที่หากค่อยๆ ถูกทำลายไป ก็จะไม่มีวันกลับคืน

คำถามคือ ประเทศไทย/สังคมไทย ควรหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อย่างกรณีหินย้อยก้อนนี้ ที่ผมเอารูปมาให้ดูแล้ว หรือไม่  เราควรห้ามคนแตะต้องหรือไม่  เพราะที่ผมไปเห็นในต่างประเทศเขาจะมีป้ายห้ามแตะต้อง  และไก๊ด์ต้องบอกนักท่องเที่ยวของตนทุกครั้ง ว่าห้ามแตะต้อง

ประมาณ ๑๑ น. เศษผมไปเห็นนักท่องเที่ยวฝรั่งคนหนึ่งกำลังไต่หน้าผา ที่ชายหาดถ้ำพระนาง  ข้างๆ เป็นหินย้อยก้อนใหญ่ ที่คนนิยมไปถ่ายรูป  โดยเขามีเก้าอี้ให้ขึ้นไปยืนเอามือแตะปลายหินย้อย  ฝรั่งลองปีนหน้าผา ๒ ครั้ง ไม่สำเร็จ ก็หันมาปีนหินย้อยแทน ให้เพื่อนถ่ายรูป  คุณหญิงชฎากับผมจึงไปห้ามปราม เขาทำเป็นไม่ได้ยิน  เรามองหาป้ายห้ามก็ไม่พบ

ผมเดินไปบอกคนไทยที่กำลังทำหน้าที่ดูแลให้ความปลอดภัยนักปีนหน้าผาอีกคนหนึ่ง ที่ปีนหน้าผาอีกส่วนหนึ่ง  และปีนขึ้นไปถึงหลืบหินสูงประมาณ ๒๐ เมตร  ว่าในฐานะคนที่หากินกับธรรมชาติเหล่านี้ เขาควรห้ามปรามไม่ให้นักท่องเที่ยวแตะต้องหินย้อย  เขาตอบว่าห้ามทำไม ใครๆ ก็ปีนกันทั้งนั้น  ผมบอกว่า หากไม่ห้าม ต่อไปมันก็ถูกทำลาย แล้วคุณก็หมดอาชีพ  ควรเก็บไว้หากินนานๆ  เขาบอกผมว่า ให้ผมไปบอกเจ้าหน้าที่  พร้อมทั้งชี้มือไปทางเจ้าหน้าที่

ผมจึงไปพูดกับเจ้าหน้าที่ ที่เขาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่อำเภอ  มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก  เขาบอกว่าเขาเคยห้ามแต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ฟัง  และเคยมีป้ายห้ามปีน แต่คนยังปีน จึงเอาป้ายออก

ผมจึงได้ไปเห็นความหละหลวมในการจัดการการท่องเที่ยว และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ของประเทศ  ดูคล้ายๆ เราสนใจแต่การเอาใจนักท่องเที่ยว  โดยไม่สนใจกำกับดูแล หรือควบคุมนักท่องเที่ยวที่นิสัยชุ่ย เอาแต่ความสนุกของตน ไม่สนใจรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศหรือสถานที่ที่ตนไปเที่ยว  ซึ่งอาจเป็นคนต่างชาติหรือคนไทยก็ได้

ในความเห็นของผม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงการท่องเที่ยว  และ อปท. ต้องช่วยกันทำหน้าที่นี้อย่างร่วมมือกัน ต้องมีป้ายที่ชัดเจนว่าห้ามอะไรบ้าง  ในบางถ้ำที่ผมไปเที่ยวในต่างประเทศ เขาให้ถ่ายรูปแต่ห้ามใช้แฟลช เพื่อป้องกันแสงทำลายถ้ำ  เขามีเหตุผลในคำอธิบาย  โดยมีบอกทั้งในป้ายประกาศ  ในแผ่นพับอธิบายหรือแนะนำสถานที่  และไกด์จะบอกเตือนล่วงหน้า  และเมื่อนักท่องเที่ยวทำผิดกติกา เขาก็จะเตือนอย่างสุภาพ

แต่ในบ้านเรา ผมไปพบแต่คนที่ไม่รับผิดชอบ  สะท้อนความไม่รับผิดชอบของระบบที่เกี่ยวข้อง  ผมไปพบว่า ที่กระบี่ มีปัญหาการจัดการ sustainable tourism

ผมคิดมากไปหรือเปล่าครับ?

๓๐ มิ.ย. ๕๖


 



ชายหาดถ้ำพระนาง



หน้าผาสำหรับปีนและหินย้อยก้อนโต



ฝรั่งไต่หน้าผามือเปล่าให้เพื่อนถ่ายรูป ลองหลายครั้ง



แล้วหันมาปีนหินย้อย คุณหญิงชฎาเข้าไปห้ามและถ่ายรูป



เขาไม่ฟัง กลับปีนเฉย



คนสวมเสื้อเขียวให้บริการนักปีนเขา



เมื่อผมไปบอกว่าเขาควรห้ามนักท่องเที่ยวปีหินย้อย เขาบอกว่าห้ามทำไม ใครๆ ก็ปีน   
และบอกให้ผมไปบอกให้เจ้าหน้าที่ห้าม



เจ้าหน้าที่ของอำเภอ บอกว่าห้ามไม่ได้ ไม่มีใครฟัง จึงเอาป้ายห้ามออก



ถ่ายให้เห็นหน้าเจ้าหน้าที่ชัดๆ

 


 



 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2013 เวลา 07:30 น.