เลขฐาน ๒ โดย วิจารณ์ พาณิช

วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

 

การศึกษาไทยในปัจจุบันชักจูงให้คนมีวิธีคิดแบบ “เลขฐาน ๒” คือเรื่องต่างๆ สามารถลดทอนลงเป็นทางเลือก ๒ ทาง ไม่ถูกก็ผิด,  ไม่ ๐ ก็ ๑   ผมไม่เชื่อเช่นนั้น   ผมเชื่อว่าชีวิตคนเราเป็นชีวิตพหุฐาน ไม่ใช่ชีวิตฐาน ๒   โลกไม่ได้เป็นโลกฐาน ๒    หรือไม่ได้มีสองขั้ว


ประมาณ ๒๕ ปีมาแล้ว ผมไปขึ้นศาลในฐานะพยานโจทย์ในคดีฟ้องร้องทางแพ่งคดีหนึ่ง    ทนายจำเลยตั้งประเด็นคำถาม และบอกให้ผมตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ นี่คือวิธีการเอาชนะกันด้วยวิธีลดทอนความจริงลงเป็น ๒ ขั้ว ตัดความซับซ้อนออกไปหมด


ผมคิดว่าตอบว่าใช่ก็มีทั้งส่วนที่ถูกและไม่ถูก   ตอบว่าไม่ใช่ก็มีทั้งส่วนที่ถูกและไม่ถูก   ผมจึงอธิบายว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร   ทนายแย้งต่อศาลว่า ผมตอบไม่ตรงคำถาม   คำถามของเขา (ซึ่งยืดยาว) ต้องการให้ผมตอบว่าใช่หรือไม่ใช่   คำตอบมีเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่เท่านั้น   ไม่ต้องอธิบาย   ศาลเห็นด้วยกับทนาย และสำทับว่า “เอ้า คุณหมอ ตอบ”


ผมตอบว่า “ใช่ครึ่งหนึ่งครับ”


ทั้งศาลและทนายงง ว่า ใช่ครึ่งเดียวมีด้วยหรือ   ผมจึงถามศาลว่า จะให้ผมอธิบายหรือไม่ ว่าทำไมจึงใช่ครึ่งเดียว    ศาลบอกว่า “เชิญคุณหมออธิบาย”


ผมจึงได้โอกาสอธิบายความซับซ้อนของเรื่อง ที่หากตอบว่าใช่ ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะมีส่วนที่ไม่ใช่อยู่ด้วย   หากตอบว่าไม่ใช่ ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เช่นเดียวกัน   ผมใจชื้น ที่ศาลสั่งว่า ให้จดตามที่ผมอธิบาย


เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตจริง มีวิธีคิด และวิธีสื่อสารแบบ “ฐาน ๒” (binary)เต็มไปหมด    ในกรณีของทนายท่านนี้ ก็เพื่อบีบให้ความคิดของพยานเข้าช่องแคบ เหมือนต้อนแกะเข้าเล้า    เพื่อบีบให้พยานต้องตอบตามที่ตนต้องการ  หรือเพื่อหาทางขจัดความน่าเชื่อถือของพยานออกไป เมื่อซักต่อ แล้วพยานตอบขัดกันกับคำตอบเดิมเพื่อหาทางเอาเปรียบด้านพยานหลักฐาน   ถือเป็นมายาชีวิตอย่างหนึ่ง


ในชีวิตจริงเราจะพบ “ความจริงฐาน ๒” เต็มไปหมด   เป็นมายาแห่ง “ความจริง”    เป็น reductionism หรือการลดทอนจาก “ความจริงที่ซับซ้อน” ให้เหลือเพียง “ความจริงสองด้าน”


ผมเคยเล่าไว้หลายครั้งแล้วว่าผมมีนิสัยชอบที่โล่ง ชอบอยู่กลางแจ้ง    ไม่ชอบที่แคบ ไม่ชอบอยู่ในบ้าน   ชอบออกไปอ่านหนังสือในสวนมากกว่า    ไม่ทราบว่านิสัยนี้กับความชอบ “ชีวิตพหุฐาน” เกี่ยวข้องกันหรือไม่


ที่น่าจะใช่คือ การดำรงชีวิตแบบมีความคิดพหุฐาน  ใช้ความซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive) เป็นพลังในการทำงานและการดำรงชีวิต ทำให้ชีวิตของผมสนุกมาก และเรียนรู้มาก   เปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนตนเองมาก   เพราะมันเปิดโอกาสให้ชีวิตออกสู่ที่กว้าง ไม่ถูกจำกัดความคิด


ที่สำคัญมันเป็นอนุสติ เป็นหลักฐานที่ชัดเจน ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผมเป็นคนที่มีความรู้น้อยมาก   เพราะในพหุมิติของเรื่องต่างๆ นั้น   มีมิติที่ผมไม่รู้หรือรู้ไม่จริง มากกว่ามิติที่ผมรู้จริง เป็นสิบเป็นร้อยเท่า    การเข้าถึงความจริงนี้ ช่วยลดอหังการ์


สำหรับร้านค้าออนไลน์ Amazon.com โลกของเขามีถึง ๕๐๐ มิติ   ที่เขาจะตรวจสอบข้อมูล (ที่เก็บด้วยระบบ ไอซีที) อยู่ตลอดเวลา    ว่าความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า ในเรื่องต่างๆ ๕๐๐ ประการมีอย่างไรบ้าง    เพราะ Amazon มีความสามารถจัดการความซับซ้อนได้ถึงขนาดนี้   ธุรกิจของเขาจึงโตวันโตคืน   จากเดิมเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์   เวานี้กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ ที่มีสินค้าถึง ๒๐ ล้านรายการ


ในโลกสมัยใหม่ เราต้องฝึกทักษะชีวิตพหุฐาน


วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ค. ๕๕

คำสำคัญ (keywords): casชีวิตที่พอเพียง550608ชีวิตพหุฐาน

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน 2012 เวลา 19:33 น.