บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

วันอาทิตย์ที่ 07 ตุลาคม 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์
ครูต้องจัดให้การเรียนรายวิชามีความแตกต่าง ใน นศ. แต่ละคนได้ เพื่อให้ นศ. แต่ละคนได้เรียนในสภาพที่ท้าทายพอเหมาะ โดยครูหาทางทำความเข้าใจความแตกต่างของ นศ. แต่ละคน แล้วออกแบบการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น เพื่อ นศ. แต่ละคนจะเลือกเรียนตามที่เหมาะแก่ตน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 17. เคล็ดลับท้าทาย นศ. ในระดับที่พอดี

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๑๗ นี้ ได้จากบทที่ ๑๐ ชื่อ Tips and Strategies for Ensuring Students Are Appropriately Challenged

 

คล. ๓๘  ประเมินจุดเริ่มต้นของ นศ.

เนื่องจาก นศ. ในแต่ละชั้น จะมีพื้นความรู้เกี่ยวกับวิชานั้น ไม่เท่ากัน   ดังนั้นครู (และ นศ.) ต้องเข้าใจระดับพื้นความรู้ของ นศ. แต่ละคน   จึงต้องดำเนินการทดสอบพื้นความรู้ของ นศ.   ในวิชาฟิสิกส์มีการทดสอบ Force Concept Inventory in Physics ในวิชาเคมีก็มี the California Chemistry Diagnostic Test ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้   หากครูสอนวิชาอื่น อาจต้องพัฒนาแบบทดสอบขึ้นใช้เอง    โดยมีหนังสือสำหรับค้นคว้าได้แก่ Tools for Teaching และ The knowledge survey :A tool for all reasons

วิธีประเมินพื้นความรู้ของ นศ. แบบที่เรียกว่า the knowledge survey เป็นวิธีการวัดพื้นความรู้และผลการเรียนรู้ที่แตกต่างจาก Pre-test – Post-test   ในลักษณะที่ PTPT วัดที่รายละเอียดของเนื้อวิชา    แต่ the knowledge survey เน้นถามความมั่นใจที่จะตอบข้อสอบตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา

 

คล. ๓๙  ติดตามประสิทธิผลในการเรียนของชั้น

ครูต้องหมั่นถามความเห็นจาก นศ.   ว่าสามารถติดตามการเรียนได้ดีหรือไม่   โดยใช้วิธีการทั้งแบบ ไม่ต้องรู้ว่าเป็นความเห็นของใคร (anonymous)    และแบบถามจากกลุ่ม นศ.

เทคนิค “กระดาษแผ่นจิ๋ว”  (ในหนังสือ Classroom assessment techniques : A handbook for college teachers หน้า ๑๔๘ - ๑๕๓)   โดย ๒ นาทีก่อนจบคาบเรียน   แจกกระดาษแผ่นเล็กๆ   ให้ นศ. แต่ละคนเขียน ๒ ประโยค (ไม่ต้องลงชื่อ)ว่าได้เรียนรู้อะไร   ส่วนไหนยังเข้าใจไม่ชัด   ครูเอาไปอ่านภายหลังเพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงชั้นเรียน

เทคนิค “ดัดแปลงจากกระดาษแผ่นจิ๋ว”  (ในหนังสือ Learner-centered assessment on college campuses : Shifting the focus from teaching to learning หน้า ๑๓๒ - ๑๓๓)   ให้เขียนก่อนจบคาบ ๑๕ - ๒๐ นาที   แล้วครูเอามาตอบหรืออธิบายในชั้นเรียน

ทั้งหมดนี้ ได้ประโยชน์ทางอ้อมด้วย คือให้ นศ. เห็นว่าครูให้ความสำคัญต่อการเรียนของ นศ. มากกว่าการสอนของครู

 

คล. ๔๐  ให้ นศ. เรียนรู้การประเมินตนเอง

ครูต้องช่วยให้ นศ. ประเมินการเรียนและกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง   เพื่อให้ นศ. สามารถรับผิดชอบการปรับให้การเรียนของตนอยู่ในสภาพที่ “มีระดับความท้าทายที่เหมาะสม”   โดยอาจทำงานทบทวนความรู้เพิ่ม   ขอความช่วยเหลือ   หรือท้าทายตนเองด้วยบทเรียนที่ก้าวหน้าหรือยากขึ้น

เขาแนะนำเครื่องมือ Diagnostic Learning Logs โดยให้ นศ. ทำบันทึกรายการ ๒ รายการ สำหรับแต่ละคาบของการเรียน    คือรายการประเด็นสำคัญที่ตนเข้าใจ    กับรายการประเด็นที่ตนยังเข้าใจไม่ชัดเจนพร้อมข้อแนะนำวิธีแก้ไข   บันทึกนี้ช่วยทั้งครู และช่วย นศ.

การใช้ Learning Logs เป็นเครื่องมือสำหรับ นศ. ประเมินการเรียนรู้ของตนเองนี้ คงจะมีหลายแบบ   ศ.เอลิซาเบธ แนะนำแบบที่ระบุไว้ในหนังสือ Learner-centered teaching  : Five key changes to practice (Weimer M, 2002) ด้วย

 

คล. ๔๑  จัดองค์ประกอบของรายวิชาให้มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อสนอง นศ. เป็นรายคน

หัวใจคือการเรียนรู้ของ นศ.   ไม่ใช่การสอนของครู   และสไตล์การเรียนรู้ของ นศ. แต่ละคนไม่เหมือนกัน   ดังนั้น ครูต้องจัดให้การเรียนรายวิชามีความแตกต่างใน นศ. แต่ละคนได้   เพื่อให้ นศ. แต่ละคนได้เรียนในสภาพที่ท้าทายพอเหมาะ   โดยครูหาทางทำความเข้าใจความแตกต่างของ นศ. แต่ละคน   แล้วออกแบบการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น เพื่อ นศ. แต่ละคนจะเลือกเรียนตามที่เหมาะแก่ตน   โดยครูพึงเอาใจใส่ความแตกต่างในประเด็นต่อไปนี้

 

คล. ๔๒   ใช้ตัวช่วย (scaffolding) เพื่อช่วยให้เรียนสิ่งที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น

หนังสือให้ตัวอย่างขั้นตอนที่ช่วย นศ. ให้เขียนบทความวิจัยได้

ศ. เอลิซาเบธ บอกว่า วิธีการใช้ตัวช่วยนี้ มีคนไม่เห็นด้วย   ตำหนิว่าเป็นการลดโอกาสที่ นศ. จะใช้ความพยายามเอาชนะความท้าทายเอง    ผมคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของ นศ.   หากงานนั้นยากมาก จน นศ. มีโอกาสถอดใจสูงมาก   การใช้ตัวช่วยก็น่าจะเหมาะสม

วิจารณ์ พานิช

๓ ต.ค. ๕๕

 

คำสำคัญ (keywords): active learning, Barkley, motivation, student engagement, Student Engagement Techniques, transformative learning, การเรียนโดยลงมือทำ, นักเรียนสนุกกับการเรียน, 551004
· เลขที่บันทึก: 504452
· สร้าง: 04 ตุลาคม 2555 06:15 · แก้ไข: 04 ตุลาคม 2555 06:15
· ผู้อ่าน: 49 · ดอกไม้: 5 · ความเห็น: 1 · สร้าง: 4 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน