ชีวิตที่พอเพียง : 1955b. ทุกอย่างเป็นสมมติ

วันอังคารที่ 23 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

ชีวิตที่พอเพียง  : 1955b. ทุกอย่างเป็นสมมติ

ผมได้แนวคิดนี้ระหว่างอ่านหนังสือ The Inquiring Organization : Tacit Knowledge, Conversation, and Knowledge Creation : Skills for 21st-Century Organizations บทที่ ๑ - ๓ ยังอ่านไม่จบเล่ม  แต่ก็เกิดความรู้สึกว่า  หนังสือเล่มนี้ช่วยขยายความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ และการเป็นตัวตนของ ปัจเจกบุคคล ของกลุ่มคน และขององค์กร ได้ดีมาก

โดยเฉพาะการเปรียบเทียบ Modern World (โลกยุคอุตสาหกรรม)กับ Postmodern World (โลกยุคข้อมูลข่าวสาร)  ที่ต่างกันเป็นขั้วตรงกันข้าม

ในบทที่ ๓ ผู้เขียนอธิบายคำ ๒ คำ คือ hermeneuticsกับ social construction

คำว่า hermeneutics ผมเข้าใจว่าหมายถึงการตีความ  ทำให้ผมนึกออกว่า ที่ผมเขียน บล็อก มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นการฝึกทำ hermeneutics ของผม  คือผมเขียนแบบตีความ ตามความเข้าใจของผม  ผิดถูกไม่ยืนยัน  เขียนเผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ไม่ใช่สอน)  และเพื่อสอนตัวเอง หรือเพื่อการเรียนรู้ของตัวเอง

นางเอกในบันทึกนี้ คือ social constructionism  เพราะมันยืนยันความเชื่อของผมว่า ทุกสิ่งในจักรวาลเป็นสมมติ  ขึ้นกับการรับรู้ การตีความหรือให้ความหมาย หรือให้คุณค่า  สิ่งที่เรียกว่า X ในความหมายของผม  ไม่มีวันเหมือนกับความหมายในใจของภรรยาผม ลูกสาวผม เพื่อนร่วมงานของผม

ที่ร้ายกว่านั้น สิ่งที่เรียกว่า นายวิจารณ์ พานิช เกิดจาก social construct ที่ผมสร้างขึ้น  และคนอื่นๆ ที่รู้จักหรือได้สัมผัสผม สร้างขึ้น  ไม่ใช่ของจริง  คือเป็นสมมติ  และมีหลายสมมติ ไม่เหมือนกัน  ในบางสมมติผมอาจเป็นผู้ร้าย เป็นคนไม่ดี  ในขณะที่ในอีกบางสมมติ ผมอาจได้รับการยกย่องสูงมาก

ผมตีความว่า คนเราแต่ละคน ค่อยๆ สร้าง social construct ว่าด้วยตนเองขึ้นมา  จนเป็นตัวตนในแต่ละขณะ

ทำให้ย้อนกลับไปคิดถึงเทพเจ้าฮินดู ที่มีหลายปาง  เจ้าแม่อุมา เป็นได้ทั้งเจ้าแม่แห่งความเมตตาปราณี  และเจ้าแม่กาลี ซึ่งมีแต่ความโหดร้าย  ก็น่าจะเป็น social construct นั่นเอง

ผมเชื่อมานานแล้ว ตั้งแต่หนุ่มๆ ว่าเทวดาไม่มีจริง  เทวดาเป็น social construct ของคน  คนนั่นเอง เป็นผู้สร้างเทวดา

บัดนี้ ผมเชื่อว่า ตัวเราเองสามารถสร้างตัวเราเองให้เป็นเทวดาได้  คือเราทุกคนมุ่งมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นโพธิสัตว์ได้  ซึ่งก็เป็น social construct อีกนั่นเอง

ทุกอย่างเป็นสมมติ

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/543226