โครงการพัฒนาและประเมินคุณภาพโรงเรียน

วันพุธที่ 04 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

ที่จริง นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ผู้เสนอโครงการนี้ ใช้คำว่า สถาบันประเมินและพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ผมเอามาปรับแต่งเขียนบันทึกในชื่อใหม่ เพื่อบอกว่า ในชั้นต้นเป็นเพียงโครงการเล็กๆ หาโรงเรียนที่พร้อมใจและกระตือรือร้น มาร่วมกันพัฒนาเพียง ๑๐ โรง    และผมต้องการสื่อว่า โครงการนี้เอาการพัฒนานำ ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือ

เราประชุมระดมความคิดกันเมื่อวันที่ ๒๕ ก.ค. ๕๖   และเห็นพ้องกันว่าเป็นโครงการที่น่าทำมาก    แต่ยังไม่ชัดว่าควรทำให้เล็กมากๆ อย่างที่คุณหมอประเสริฐเสนอ   หรือควรขยายให้วงใหญ่ขึ้นหน่อย   รวมทั้งมีผู้เสนอให้เลี่ยงคำว่าประเมิน ให้ใช้คำว่า วิจัย แทน

คุณหมอประเสริฐบอกว่า เป้าหมายคือคุณภาพที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามแนวทาง 21st Century Skills   แต่วิธีการพัฒนาจะเน้นตั้งคำถามให้ภายในโรงเรียนร่วมกันคิด และช่วยกันหาวิธีพัฒนาตามที่ร่วมกันตั้งเป้า    โดยจะเดินเรื่องด้วยการประเมินตนเองแบบdescriptive สามข้อคือ  (๑) โครงสร้าง  (๒) การเรียนการสอน  (๓) ผลลัพธ์   ตามมาด้วยการแลกเปลี่ยนการตรวจเยี่ยมและประเมินซึ่งกันและกัน

คุณหมอประเสริฐย้ำแล้วย้ำอีกว่าทำง่ายๆ   ประเมินง่ายๆ ไม่เน้นวิธีการมาตรฐาน

แต่ผมก็อดไม่ได้ ที่จะคิดว่า ควรนำเอาการออกข้อสอบประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนแบบ PISA มาเรียนรู้ร่วมกัน    โดยทำแบบง่ายๆ ไม่ทำให้น่ากลัว    ซึ่งหมายความว่า การประเมินผลลัพธ์ จะเน้นประเมินความเข้าใจ หรือความคิด (ตามแบบ PISA)

กลางเดือน ส.ค. ผมซื้อหนังสือ Embeded Formative Assessmentมาอ่าน   ผู้เขียนคือ Dylan Wiliam เขียนดีมาก อ่านแล้ววางไม่ลง    บอกอะไรๆ ที่เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของการเรียน มากมาย   รวมทั้งมีรายละเอียดเกี่ยวกับFormative Assessment มากมาย ผมกำลังอ่านอยู่    และจะนำมาเขียนบันทึก ลปรร. ต่อไป   ผู้ทำโครงการพัฒนาและประเมินคุณภาพโรงเรียน แบบของ มสส. ควรอ่านหนังสือเล่มนี้โดยตรง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich