งานทุกขั้นตอนต้องถูกต้องเป็นระบบ

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

บทสัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

หน้าที่ประการต่อมาคือ ติดตามประมวลผลและถวายรายงานทุก ๓-๔ เดือน ต้องประมวล ติดตามผลกระทบเป็นอย่างไร ประชาชนเขาเปลี่ยนไปไหม รายได้เป็นอย่างไร สภาพแวดล้อม ป่า น้ำ ได้รับการฟื้นฟูไหม ต้องติดตามประมวลผลอย่างใกล้ชิด ทำเป็นระบบและทูลเกล้าฯถวาย จะทำแบบหละหลวมไม่ได้ เนื่องจากพระองค์ทรงติดตามเรื่องด้วยพระองค์เอง บางปีถัดมาเสด็จฯ ซ้ำในพื้นที่เดิม ในพระหัตถ์จะมีรายงานนั้นอยู่ จริงไม่จริงทรงรู้ โดยทรงตรวจติดตามความก้าวหน้าของโครงการอีกครั้งด้วยพระองค์เอง ตลอดจนพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการแก้ไขปัญหาของราษฎรเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ

ใครๆ มักคิดว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไม่มีใครมาตรวจสอบ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราทำกันอย่างเข้มงวดมาก เพราะจะผิดพลาดไม่ได้ ต้องระมัดระวังเพิ่มอีกหลายเท่า เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ย่อมส่งผลต่อสถาบัน ต้องระวังทุกอย่างก้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กำชับให้หน่วยปฎิบัติห้ามอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ต้องให้ประชาชนเขาทำด้วยความเต็มใจ

ทุกโครงการต้องผ่านระบบราชการมีตรวจสอบไม่ได้มีอภิสิทธิ์อะไร จำได้ว่านำแบบฟอร์มให้คณะกรรมาธิการงบประมาณตรวจสอบ ซึ่งเขาเข้มงวดมากกับการติดตามประเมินผล เมื่อตรวจสอบแล้วคณะกรรมาธิการงบประมาณบอกว่า อยากให้การติดตามประเมินผลของสำนักงานเลขานุการ กปร เป็นต้นแบบให้กับหน่วยรายการทุกหน่วยดำเนินการตามนี้ด้วย นั้นคือ งานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงได้รับการเชื่อถือว่าทำอย่างรัดกุมรอบครอบที่สุด ไม่มีหน่วยราชการไหนจะทำละเอียดถี่ถ้วนทุกมิติเท่ากับที่สำนักงานเลขานุการ กปร.ทำ ทำให้ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้มาก

ถือได้ว่างานประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานเริ่มต้น เหมือนกับอีกหลายหน่วยงานในประเทศที่แตกรากมาจากสภาพัฒน์ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน