ผลกระทบของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับประเทศไทย

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระแสประชาคมอาเซียน หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มาแรงมาก ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และภาคเอกชน เมื่อมีการจัดสัมมนาเรื่องอะไรก็ตามจะต้องมีการเชื่อมโยงถึงประชาคมอาเซียน หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  มีการวิเคราะห์และพูดถึงผลกระทบและการเตรียมความพร้อม กันไปต่างๆนาๆ ส่วนมากไม่ค่อยรู้จริง รู้มาอย่างละนิดอย่างละหน่อย และไปพูดต่อสื่อสารกันแบบไร้ทิศทาง

เมื่อวานมีโอกาสได้เข้ารับฟังการบรรยายหัวข้อ "ผลกระทบของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับประเทศไทย" โดย ท่านศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง

หัวข้อน่าสนใจมาก ท่านศาสตราจารย์  เปิดการบรรยายว่าท่านจะไม่บรรยายในเรื่องที่ได้ฟังกันมามากแล้ว ท่านเน้นว่าปัญหาของคนไทยในเรื่องประชาคมอาเซียนอยู่ที่ เราต่างไม่ได้สนใจและทำความเข้าใจในกลไกของมัน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย

เปิดการบรรยายได้ตรงเป้าที่ผมคิดไว้ ท่านกล่าวต่อว่า สิทธิประโยชน์และพันธะกรณีระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจของไทยทับซ้อนกันอยู่ในหลายระดับ (ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่อยู่ในขั้นของเจราจาระหว่างประเทศ) ซึ่งมีทั้งในระดับโลก เช่นภายใต้กรอบขององค์การค้าระหว่างประเทศ (WTO) กับในระดับภูมิภาคทั้งที่มีอยู่แล้วเช่น ภาคใต้กรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และอื่นๆอีกมาก

ท่านพูดยกตัวอย่างหลายๆเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กๆและใช้เวลานานมากประมาณ ชั่วโมงครึ่ง ก็ยังไม่เข้าเรื่อง โดยท่านเองก็ทราบและออกตัวเอง แต่ท่านว่าจำเป็นต้องพูดมิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ

เวลาในการอธิบายของท่านกำหนดไว้ที่ 3 ชั่วโมง ถ้าปล่อยให้ท่านบรรยายไปแบบเดิม เมื่อหมดเวลาก็คงจะไม่ได้อะไร ผมเข้าใจว่าท่านมีความรู้มาก อ่านและฟังมามาก จึงอยากจะให้ความรู้ที่มากมายและทับซ้อนให้ผู้รับฟังทุกท่านทราบเช่นเดียวกับท่าน แต่เวลามีจำกัด ผมจึงต้องเสียมารยาทโดยแสดงความคิดเห็นว่าท่านน่าจะเข้าประเด็นตามหัวข้อ ซึ่งท่านก็รับฟังและไม่ได้แสดงความไม่พอใจผมที่ไปขัดท่าน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ไม่ทิฐิและยึดติด อย่างไรก็ตาม การบรรยายของท่านในวันนี้ ผมค่อนข้างจะผิดหวัง เนื่องจากคณะผู้จัดและท่านผู้บรรยายเอง ไม่ได้เตรียมแผนการบรรยายให้เหมาะสมกับเวลา และกลุ่มผู้มาเข้ารับฟัง ท่านบรรยายโดยใช้วิธีเดียวกันกับการสอนนักศึกษา โดยสอนไปเรื่อยๆ เมื่อหมดเวลาก็จบเท่านั้น และไปต่อใหม่ในการสอนคราวหน้า

อย่างไรก็ตามผมได้นำเสนอผู้จัดและเรียนท่านผู้บรรยายอย่างตรงไปตรงมา และท่านก็รับฟัง โดยไม่โกรธและไม่แสดงความไม่พอใจใดๆทั้งสิ้น ผมมีความรู้สึกว่าท่านพอใจด้วยซ้ำที่มีการแลกเปลี่ยนและมีส่วนร่วมในกิจกรรม

ไม่ใช่ปล่อยให้ท่านบรรยายไปคนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วม

สรุปว่าท่านเป็นอาจารย์และเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ก็หวังว่าท่านจะนำข้อคิดเห็นของผมไปปรับวิธีการบรรยายให้กับกลุ่มนักธุรกิจหรือครูบาอาจารย์ด้วยกัน จะใช้วิธีเดียวกับการบรรยายให้นักศึกษาฟังไม่ได้

และถ้าสิ่งใดที่ผมพูดและกระทำลงไปเป็นการล่วงเกินท่าน ก็ขออภัยมา ณ.ที่นี้ อย่างไรก็ตามผมยืนยันว่าผมมีความจริงใจไม่เคยคิดที่จะล่วงเกินผู้ใด พูดเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

คำสำคัญ (keywords): ประชาคมอาเซียนผลกระทบของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตัวแปรสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือเรื่องกฏหมายปัญหาคือความไม่เข้าใจกลไกของมัน