บทความของคุณวิจารณ์ พาณิช

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

ความเข้าใจความเป็น part of the whole  หรือความเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด คือความสนุกสนานในชีวิตของผม


นี่คือการตีความ Complex Adaptive Systems เพื่อทำความเข้าใจชีวิต   เอามาใช้ในการครองชีวิต   เพื่อฝึกฝนตนเอง   และเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม


ไม่ว่าเรื่องใด ไม่ว่าทำอะไร เราใช้หลัก “เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด” ได้เสมอ   และการทำความเข้าใจ “ทั้งหมด” (the whole) เป็นแบบฝึกหัดที่มีค่ายิ่ง   ให้ปัญญามองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง    ทำให้เราเห็นว่าตัวเราเองเป็น part of the whole นั้น   โดยที่ส่วนมากเราไม่ได้อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของ “ทั้งหมด”   ผมมักบอกตัวเองบ่อยๆ ว่า ผมมักจะมีตำแหน่งอยู่ที่ชายขอบ หรือเกือบตกขอบ ของ “ทั้งหมด” นั้น


มันช่วยให้เราไม่สั่งสมอัตตาไว้ให้พอกพูนหนาเตอะเกินไป (ก็ยังหนาอยู่ดี ขูดออกยากมาก)


วิธีคิดเรื่อง “ทั้งหมด” ช่วยให้เรามองออกว่า “ทั้งหมด” นั้นงอกหรืองอกงามได้    หาก “ชิ้นส่วน” (parts) ทำหน้าที่ของตนอย่างเข้าขากับชิ้นส่วนอื่น และอย่าง “พัฒนาต่อเนื่อง” (CQI – Continuous Qality Improvement) ที่จริงวิธีคิดแบบนี้ภาษาไทยเรียกว่า “ความสามัคคี”


ผมพยายามทำให้ความเป็น “ชิ้นส่วน” ของตัวผม เป็นชิ้นส่วนที่เล็ก หรือยิ่งมองไม่เห็นยิ่งดี    แต่พยายามทำตัวให้มีส่วนขยายหรืองอกงาม “ทั้งหมด” ออกไป   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงอกงามในเชิงคุณค่า หรือเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม   ผมรู้ว่า ชีวิตของผมมีความสุขสบาย และสนุกสนาน ได้ถึงขนาดนี้ (อย่างไม่นึกฝัน) ก็เพราะการทำตัวเป็น “ชิ้นส่วน” ที่เรียนรู้และแสดงไมตรีต่อชิ้นส่วนอื่น   เพื่อหวังความงอกงามของ “ทั้งหมด” หรือส่วนรวม


ผมตระหนักว่า การมองเห็นภาพ “ทั้งหมด” เป็นสิ่งยาก   และจริงๆ แล้วคนที่มีสติปัญญาขนาดผม ไม่มีวันเข้าใจ “ทั้งหมด” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแท้จริงได้เลย   สัจธรรมนี้เอง ทำให้ผมหมั่นฝึกฝนทักษะการมอง “ทั้งหมด” (the whole) ในเรื่องต่างๆ ที่ผมเข้าไปทำงานเกี่ยวข้อง    ยิ่งฝึกก็ยิ่งสนุก ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   และยิ่งฝึกก็ยิ่งเรียนรู้ว่าตนเองห่างไกลจากความเข้าใจ “ทั้งหมด” ได้อย่างแท้จริง


นี่คือ การคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking)  และ creative thinking ที่ช่วยให้ผมฝึกฝนตนเองให้มองเห็นสรรพสิ่งได้ลึก กว้าง และเชื่อมโยง   และการฝึกตนฝนปัญญาวิธีที่ดีที่สุดคือฝึกด้วยการปฏิบัติในชีวิตจริง


ผมจึงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของสังคม ที่แม้ผมจะอายุมากแล้ว (๗๐) ก็ยังได้รับโอกาสไปทำงานรับใช้สังคมในหลากหลายเรื่อง    ช่วยให้ผมมีชีวิตการทำงานจริง ให้ได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ด้านต้างๆ   และการเรียนรู้ฝึกฝนที่ผมสนใจมากคือเรื่องการคิดกระบวนระบบ   และการฝึกลดละกิเลสตัวตนทั้งปวง    ซึ่งผมพบว่าเรื่องเหล่านี้มันเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น


การได้ฝึกปฏิบัติ ว่างานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex-Adaptive Systems)    และงานส่วนที่เรารับผิดชอบ เป็นเพียง “ชิ้นส่วน” หนึ่ง ของ “ทั้งหมด”   จะกระตุ้นให้เราพยายามทำความเข้าใจ “ทั้งหมด” เพื่อเอามาใช้ทำงานส่วนของเราให้ดีขึ้น   ด้วยความหวังว่าจะมีผลให้ “ทั้งหมด” ดีขึ้น   เกิดเป็นวงจรพัฒนา


จะเป็นเช่นนี้ได้ เราต้องไม่ใช่เอาแต่งานส่วนของเรา ต้องเข้าใจ และช่วย (หรือร่วมมือ) กับ “ชิ้นส่วน” อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย   “ทั้งหมด” จึงจะดีขึ้น   และเราก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย   เป็นผลที่สูงส่งกว่าเราทำของเราคนเดียว แบบแยกส่วนหรือเป็นไซโล


อย่างนี้ผมเรียกว่าใช้ชีวิตโดยมีความเชื่อใน Positive-sum Game   คือเชื่อว่ากองผลประโยชน์ที่หน้าตักใหญ่ขึ้นได้   แล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ชนะทั้งหมดทั่วกันทุกคนได้   เรียกว่าเป็น Win – Win situation   ไม่ใช่ Win – Lose


เป็นชีวิตที่สร้างสรรค์รวมหมู่   และเรียนรู้จากการร่วมกันขยายหรือยกระดับ “ทั้งหมด” ผ่านการทำงานรับผิดชอบ “ชิ้นส่วน” เล็กๆ แบบสามัคคีพลังกับ “ชิ้นส่วน” อื่นๆ ด้วย


วิจารณ์ พานิช

๑๐ พ.ค. ๕๕

คำสำคัญ (keywords): casชีวิตที่พอเพียง550607part of the whole