โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

วันที่ ๙ พ.ค. ๕๕ ผมไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ประสานงานภูมิภาค ครั้งที่ /๒๕๕๕ โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ตามรายละเอียดการประชุมนี้

โดยที่โครงการนี้ต้องการให้มหาวิทยาลัย ๘ แห่งเข้าไปหนุนโรงเรียนที่สมัครและคัดเลือกแล้ว ให้พัฒนาตนเองเป็นโรงเรียนแกนนำหรือเป็นศูนย์พัฒนาโรงเรียนอื่นๆ สู่โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง

ทำให้ผมได้มีโอกาสไตร่ตรองว่าโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ต้องเรียน หรือทำกิจกรรมเพิ่มเติม หรือจริงๆ แล้ว เป็นกิจกรรมบูรณาการ ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ 21stCentury Skills ได้อย่างสอดคล้องกับชีวิตจริงยิ่งขึ้น

ผมคิดว่า ความท้าทายของโครงการนี้คือ ต้องเข้าไปหนุนโรงเรียนให้นักเรียนได้รับการศึกษาแบบ “Teach less, Learn more” ให้ได้   คือนักเรียนในโรงเรียน ๘๔ แห่งนี้ ไม่ถูกกรอกความรู้” สำเร็จรูป   แต่ได้เรียนรู้แบบ Learning by doing  คือเรียนจากการทำกิจกรรมเป็นหลัก   และกิจกรรมเหล่านี้ได้รับการออกแบบอย่างดี ให้นักเรียนได้เรียนรู้ครบตาม (๑) หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ (๒) ได้เรียนรู้ครบตาม 21st Century Skills  และ (๓)ได้ฝึกฝนทักษะเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

โดยผมมองว่า มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงทั้ง ๘ ต้องตีโจทย์ให้แตก ว่าเป้าหมายการเรียนรู้ ๓ ข้อข้างบนนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน หรือซ้อนทับกัน   เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้แบบงอกงามจากภายในด้วยการเรียนแบบลงมือทำ เน้นทำเป็นทีม (PBL – Project-Based Learning)  โดยครูมีวิธี coach / facilitate อย่างถูกต้อง

ดังนั้น หัวใจจึงอยู่ที่การจัดการเรียนรู้อย่างถูกต้อง    ให้เป็นการเรียนแบบสอนน้อย-เรียนมาก   เรียนโดยการลงมือทำ   ครูไม่สอนแต่ทำหน้าที่ครูฝึกคือคอยให้กำลังใจ ชี้ทางที่ถูกต้อง และช่วยประเมินความก้าวหน้าเพื่อแนะให้นักเรียนปรับปรุง

ปรัชญาและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ใช่บทเรียน แต่เป็นผลสัมฤทธิ์ของการเรียน   และครูใช้เป็นแนวทางออกแบบ PBL  และใช้เป็นแนวทางประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของศิษย์

กล่าวอย่างแรง โรงเรียนต้องสนองต่อโครงการ เศรษฐกิจพอเพียงแบบรวบเข้าสู่ภารกิจหลัก” ของตน   ไม่ใช่ตอบสนองแบบทำโครงการ” เศรษฐกิจพอเพียง

คือผมมองเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทโรงเรียน เป็น means ไม่ใช่ end   โดย end คือ การเรียนรู้ของนักเรียนที่นักเรียนได้ทักษะเพื่อชีวิตในอนาคตของตนเอง

ทีมมหาวิทยาลัยต้องช่วยปลดปล่อยครูจากพันธนาการ ๒ อย่าง

๑. การสอน  ครูต้องละจากความเคยชินที่เน้นการสอน หรือการบอกสาระวิชา ไปสู่การทำหน้าที่หนุนหรือเอื้อการเรียนรู้ของศิษย์ ที่ศิษย์เรียนโดยการลงมือทำ

๒. วิชา   ครูต้องเลยจากการเน้นให้ศิษย์เรียนวิชา  สู่การเน้นให้ศิษย์ฝึกทักษะ

ระหว่างการประชุม ผมได้แนวคิดว่า ครูและโรงเรียนต้อง Do less, Achieve more ในเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน    คุณเปาที่นั่งอยู่ข้างๆ เตือนว่า เขียนอย่างนี้ระวังครูเข้าใจผิด คิดว่าตนไม่ต้องทำอะไร   เพราะจริงๆ แล้วครูจะต้องทำงานที่มีคุณค่ากว่าเดิม คือหน้าที่โค้ช    และเนื่องจากครูไม่ได้ฝึกการทำหน้าที่นี้มาก่อน   ครูจึงต้อง “เรียนรู้โดยลงมือทำ” หน้าที่นี้   โดยรวมตัวกันเรียนรู้ เป็น PLC

น่าแปลกใจมาก ที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้ความเห็นใจตรงกันหมด ว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาไทย   ที่ดำเนินการจากมุมขององค์การเอกชนสาธารณประโยชน์ ไปชวนมหาวิทยาลัยมาร่วมขบวนการ

เนื่องจากผมอยู่ร่วมการประชุมได้เพียงครึ่งวัน   ก่อนพักเที่ยงเขาให้ผมให้ข้อคิดเห็น   ด้วยความจำกัดของเวลา ผมจึงใช้เวลาเพียง ๒ - ๓ นาที ให้ความเห็น ๒ ประเด็นคือ


๑. โครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไกล เพื่อปฏิรูประบบการเรียนรู้ของไทย    ที่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่(๑) ครูรวมตัวกันเอง จัด PLC โดยครูเป็นผู้จัดและรับผิดชอบ ดึงส่วนร่วมภายนอก และภายใน   (๒) การบริหารในกระทรวงศึกษาธิการและในโรงเรียนต้องเปลี่ยนเป็นเน้น empowerment

๒. Website ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลกำลังพัฒนาต้องไปให้ถึง การช่วยหนุน online interactive learning ของครู  ผู้บริหาร และโค้ช   และของ นร. ในเครือข่าย   ต้องเน้น share สิ่งที่ไม่ชัดเจน ที่มาจากการปฏิบัติ (inter-subjectivity) ช่วยให้ ดร. ปรียานุช ประเมินเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกิจกรรมการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๙ พ.ค. ๕๕