สินทรัพย์ทางปัญญาโดย ศ.วิจารณ์ พานิช

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

บทความเรื่องApple’s War on Androidในนิตยสาร Businessweek ฉบับวันที่ ๒๙ มี.ค. ๕๕  ช่วยให้เราเห็นวิถีของธุรกิจในโลกแห่งนวัตกรรม   ว่าเวทีต่อสู้แข่งขันมีอยู่หลายเวทีในเวลาเดียวกัน  ทั้งในการทำงานวิจัยและพัฒนา   การผลิต และการตลาด    บทความนี้บอกเวทีต่อสู้แข่งขันที่อยู่เบื้องหลังคือการฟ้องร้องในคดีละเมิดสินทรัพย์ทางปัญญา(intellectual property) ที่มีการจดสิทธิบัตรไว้

สนุกยิ่งกว่าละคร (น้ำเน่า) ในทีวี คือละครน้ำเน่าความสัมพันธ์สองหน้า (หรือหลายหน้า) ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ที่ด้านหนึ่งก็ร่วมมือกัน คือบริษัท Apple ว่าจ้างให้ Samsung ผลิตชิป A5 ที่มีความเร็วสูงมาก   ในขณะเดียวกัน Apple ก็ฟ้อง Samsung ว่าละเมิดสินทรัพย์ทางปัญญาของตน เอาไปใช้ใน สมาร์ทโฟน และ แทบเล็ต ตระกูล Galaxy   ธุรกิจกับการเมืองเหมือนกันในข้อนี้…ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

Apple จำใจต้องจ้างให้ Samsung ผลิตชิป A5 เพราะในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิปทั้งหลาย Samsung ผลิตได้คุณภาพดีที่สุด   สะท้อนภาพของพลังคุณภาพที่แท้จริง    ศัตรูก็ยังต้องคบค้าเพราะความสามารถในการผลิตสินค้าคุณภาพ

ที่จริงการต่อสู้กันเรื่องสินทรัพย์ทางปัญญาไม่ได้มีนัยยะตื้นๆ แค่นี้   แต่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามยึดครองความเป็นจ้าวครองตลาด ครองพัฒนาการหรือนวัตกรรมของสินค้าไอทีในอนาคต

และตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางกฎหมายสินทรัพย์ทางปัญญา ก็ไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่    แต่ยังมีบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ที่ทำหน้าที่ทนายต่อสู้ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่แต่ละฝ่าย   รวมทั้งมีผู้พิพากษาที่ชำนาญด้านคดีสินทรัพย์ทางปัญญาโดยเฉพาะ

อ่านแล้วผมก็บอกตัวเองว่า ใครที่มุ่งทำมาหากินกับการผลิตสินค้าตลาดบน ที่มุ่งคุณภาพ ก็ต้องมุ่งลงทุนสร้างนวัตกรรมหนีคู่แข่งโดยเอาใจตลาดหรือลูกค้า    และต้องคอยระแวดระวังปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญาของตนไม่ให้ถูกละเมิดแบบโจ๋งครึ่มด้วย   หรือหากผลประโยชน์สูงมาก การละเมิดแบบแยบยล (อย่างกรณี Samsung – Android ต่อ Apple นี้) ก็ต้องยอมลงทุนให้ทนายมือดี ค่าตัวสูง เข้ามาดำเนินการฟ้องร้องต่อสู้   นี่คือชีวิตของธุรกิจสมัยใหม่   ที่ถือว่าผลผลิตทางปัญญาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

ที่จริงแนวคิดเรื่องการจดสิทธิบัตรการค้นพบหรือการประดิษฐ์ที่จะมีผลต่อการนำไปใช้ทางธุรกิจ ได้รับการสร้างขึ้นประมาณ ๕๐๐ ปีมาแล้ว   และยิ่งเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดเรื่องใช้ปัญญาสร้างทรัพย์สินไม่เป็น   แม้ทำคลินิกก็ทำไม่เป็น   สิ่งที่คล้ายๆ สินทรัพย์ทางปัญญา คือ PowerPoint ที่ผมคิดขึ้นและนำไปใช้บรรยายตามที่ต่างๆ ผมก็เอาขึ้นเว็บเพื่อมอบให้แก่สังคม   ใครจะเอาไปใช้ก็ได้   บางคนที่ได้ PowerPoint ของผมไปยึดถือความเคารพในสิทธินี้ มาถามผมว่า มีคนมาขอต่อ จะให้ได้ไหม   ผมบอกว่ารีบให้ไปเลย เพราะผมอยากเผยแพร่ความคิดนี้อยู่แล้ว   ยิ่งแพร่หลายมากและมีคนเอาไปหาทางใช้พัฒนาบ้านเมืองมากเท่าไร ผมก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

แต่การไม่มุ่งผลประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งนี้มันให้ผลตอบแทนต่อชีวิตมากเหมือนกันนะครับ   คือสินทรัพย์ทางปัญญามันไม่มากับเป้าหมายที่เงิน   แต่ให้ผลเป็นทุนทางสังคม ได้เครือข่ายคนที่มุ่งทำประโยชน์ทางสังคมเป็นที่ตั้ง เรียกว่ามี social capital    ผมพอใจที่ทุนทางสังคมของผมเปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานจุดประกายการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน   แม้จะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

กลับบ้านมาค้นด้วย Google ทราบข่าวว่า คดีนี้ Apple ทั้งชนะและแพ้ดังข่าวนี้จากการตัดสินของศาลอุทธรณ์   สะท้อนภาพความซับซ้อนในการตีความประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิด   เพื่อการต่อสู้คดีของคู่ความ และการตัดสินคดีของศาล

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ค. ๕๕

บนรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิกลับบ้าน