Strategy Roadmap ด้านแรงงานกับการพัฒนาศักยภาพ

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

ผมมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง "แรงงานกับการพัฒนาศักยภาพและความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

เปิดงานและกล่าวปาฐกถาเรื่อง " วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยในมุมมองของข้าพเจ้า" โดยท่านอนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ผมพอใจการกล่าวปาฐกถาของท่านและคิดว่าท่านเข้าใจและเห็นความสำคัญในการพัฒนาแรงงานของประเทศ ผมเข้าใจว่าท่านพยายามสื่อสารถึงผู้ประกอบให้เห็นความสำคัญของแรงงาน ต้องให้ความเป็นธรรมกับแรงงาน สร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานมีความสุขในการทำงาน

หลังจากนั้นเป็นเวทีเสวนาเรื่อง "Strategy Roadmap ด้านแรงงานกับการพัฒนาศักยภาพและความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ประกอบด้วยวิทยากรดังนี้

1.ศ.ดร.จีระ หงส์ลด่รมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ "เลิกพูดเรื่องอะไรคือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แล้ว เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อทำให้ ประชาคมอาเซียนสร้างโอกาสให้กับเรา ประเด็นคือขณะนี้คนของเราไม่พร้อม ขาดคนคุณภาพ และขาดปัญญา การแข่งขันของประเทศไม่ใช่อยู่ที่การมีแรงงานราคาถูกเพื่อดึงนักธุรกิจต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศ เราต้องพัฒนาคนของเราในอนาคตให้มีความรู้ ใฝ่รู้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ความรู้เรื่องภาษาที่ สอง และภาษาที่สามเพื่อการสื่อสารกับต่างชาติ ต้องยอมรับความจริง ว่าเราเน่า แต่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดพลังที่จะต่อสู้"

"กระทรวงแรงงาน มีนโยบายสับสนไม่ชัดเจน" เสนอให้มีการทำวิจัยในการเตรียมแผนของกระทรวงแรงงานให้หันมาปรับทุนมนุษย์จาก ทักษะ ให้เป็นความรู้ ให้คนรู้จักคิด ทำให้แรงงานที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีความคิดไม่ถูกไล่ออกจากงาน"

ต้องพัฒนาความรู้ให้กับแรงงานไม่ใช่แค่ทักษะ  ยกระดับแรงงานไทยให้ขึ้นสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2.ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เปิดประเด็นว่า "การฝึกอบรมของหน่วยงานราชการ คือการใช้งบประมาณให้หมด"

ธุรกิจที่แรงงานวิ่งเข้าไปหาคือธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลาง ส่วนธุรกิจขนาดเล็กไม่มีแรงงานวิ่งเข้าหา

พัฒนาคนจะพัฒนาแค่ทักษะไม่ได้ ต้องรอบรู้แบบมัลติฟังชั่น มีทั้งทักษะ ความรู้และทัศนคติสร้างพนักงานให้เป็นเถ้าแก่น้อยๆให้บริษัท

ธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางในประเทศไทยส่วนมากเป็นการลงทุนจากต่างชาติจากตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนของคนไทยส่วนมากเป็นขนาดเล็กต่ำกว่า 20 ล้าน

ทุนบริษัทเล็กๆมาจากตลาดเงิน ระดมทุนจากทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัว และเงินนอกระบบ ไม่สามารระดมทุนจากกองทุนได้ เพราะนักลงทุนไม่เชื่อถือ แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถระดมทุนได้จากกองทุนและตลาดหลักทรัพย์

3.คุณพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย

ฟังแล้วแรงงานไทยไม่มีอนาคตอยู่แบบเป็นหนี้จนตาย ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะต้องคอยทำโอทีเพื่อมีรายได้ให้พอใช้หนี้ในแต่ละเดือนหมดโอกาสในการเรียนรู้และเพิ่มคุณค่าของตัวเอง

4.ตัวแทนจากกรมสวัดิการและคุ้มครองแรงงาน (จำชื่อไม่ได้) อ่านตำราให้ฟัง ผมเลยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

ผู้ดำเนินการเสวนา ได้แก่ รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ไม่มีจุดเด่นอะไรพิเศษ

 

ผมฟังเสวนาจากวิทยากรและการสรุปจากท่านผู้ดำเนินการเสวนาในรอบแรกแล้วยังไม่ได้คำตอบในหัวข้อการเสวนา จึงรีบยกมือเพื่อชี้ประเด็นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการเสวนามากที่สุด พยายามชี้ให้เห็นว่าต้องแบ่งกลุ่มแรงงานให้ชัดเจน เพราะที่พูดๆกันมีอยู่กลุ่มเดียวคือกลุ่มคนที่ใช้แรงงานขั้นต่ำ ใช้แค่ทักษะ กลุ่มคนที่ไปรองรับภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้างและการผลิต แรงงานที่ใช้สมอง ความคิดและความสามารถในการให้บริการไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก หรือไม่เคยกล่าวถึงเลย แรงงานแต่ละกลุ่มมีศักยภาพและการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะต้องกำหนดกลุ่มแรงงานให้ชัดเจน จึงจะสามารถพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้

เสียดายที่ผู้ดำเนินการเสวนาไม่เข้าใจประเด็นที่ผมยกมาและไม่ได้ให้ความสำคัญ ส่วนท่านวิทยากร มีเพียงท่าน ศ.ดร.จีระ ที่ให้ความสำคัญ และเห็นด้วยกับประเด็นที่ผมนำเสนอ วิทยากรท่านอื่นๆไม่ได้กล่าวถึง

ผมไม่ได้หวังผลในประเด็นที่ผมนำเสนอว่าจะได้คำตอบอย่างไรในช่วงเช้า เพียงยกประเด็นไว้เผื่อท่านวิทยากรและท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาและผู้จัดจะนำไปต่อยอดในการทำ workshop ในช่วงบ่าย ซึ่งผมไม่สามารถเข้าร่วมได้เนื่องจากติดประชุมอีกแห่งหนึ่ง