บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

สรพ. ปรับปรุงระเบียบว่าด้วยจริยธรรมและแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการและผู้ปฏิบัติงาน ของสถาบัน ส่งมาให้ผมลงนาม   ทำให้เกิดแนวความคิดว่า มีระเบียบยังไม่เพียงพอ ต้องมีการจัดการเพื่อเอาระเบียบนั้นไปใช้ประโยชน์ด้วย   ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของสถาบัน   หรือจัดการความเสี่ยงด้านคุณธรรมจริยธรรม

เรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้น สังคมไทยมักหลีกเลี่ยง ไม่หยิบยกมาพูดทำความเข้าใจกันอย่างเปิดเผย   คล้ายๆ กับว่าการหยิบยกขึ้นมาสะท้อนความไม่ไว้วางใจกัน   แนวคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง   เป็นการทำงานแบบตั้งอยู่ในความประมาท   หรือมีความเชื่อผิดๆ ว่า เรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องความรู้ผิดชอบชั่วดีภายในแต่ละคน

ความคิดเช่นนั้นเป็นความประมาท  รวมทั้งไม่เข้าใจความซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน และความซับซ้อนของแต่ละกิจการงานที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบ

เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ส่วนที่สำคัญอยู่ตรงรอยต่อระหว่างสิ่งที่ผิดชัดๆ (ดำ)  กับสิ่งที่ถูกต้องดีงาม (ขาว)   แต่ในชีวิตจริง มีสีเทาเต็มไปหมด   แล้วแต่ใครจะตีความว่าเป็นสีเทาแก่ (ตีเข้ากลุ่มดำ)  หรือเป็นสีเทาอ่อน (ตีเข้ากลุ่มขาว)

ผมจึงขอเสนอว่า บอร์ด (คณะกรรมการกำกับดูแล) ขององค์กร ต้องไม่ใช่แต่ออกข้อบังคับหรือระเบียบว่าด้วยจริยธรรมและแนวปฏิบัติที่ดีเท่านั้น   ต้องกำหนดให้ฝ่ายบริหารเอาข้อบังคับไปหารือกับผู้ปฏิบัติงาน   ว่าในทางปฏิบัติมีประเด็นใดบ้างที่ล่อแหลมหรือเป็นสีเทาแก่    ที่จะต้องระมัดระวังในทางปฏิบัติ   แล้วนำมาเสนอ บอร์ด ในเชิงวาระการปฏิบัติตามนโยบายด้านจริยธรรม อย่างน้อยปีละครั้ง    ถือว่าเป็นการดำเนินการจัดการความเสี่ยง ด้านความน่าเชื่อถือ หรือด้านชื่อเสียง (reputation risk management) รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านการกำกับดูแลด้วย

ฝ่ายบริหาร อาจดำเนินการจัดการเรียนรู้ (ด้านจริยธรรม) โดยการหยิบยกประเด็นที่ล่อแหลม ในลักษณะ Case-Based Learning session   ให้ผู้ปฏิบัติงานนำเสนอกรณีศึกษา    ตามด้วยการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน   โดยร่วมกันทำความเข้าใจว่า เมื่อไร หรือมีปัจจัยอะไร ที่เป็นตัวเตือนว่าสีเทามันแก่มาก ควรจะจัดเข้ากลุ่มสีดำได้แล้ว

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ค. ๕๕

คำสำคัญ (keywords): 550816, ethics, จรรยาบรรณ, จริยธรรม, แนวปฏิบัติที่ดี