ความขัดแย้ง จัดได้ว่าเป็น ธรรมชาติ หรือ ธรรมดา

วันจันทร์ที่ 08 ตุลาคม 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์
ขอนำคำสอนที่คัดลอกมาจากบทความของ รศ.ดร.พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร มาเผยแพร่
“ความขัดแย้ง” จัดได้ว่าเป็น “ธรรมชาติ” หรือ “ธรรมดา” ของสังคมทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “สิ่งจำเป็น” (Necessity) ของสังคม เพราะ สรรพสิ่งในสังคมนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง) ผลจากการแปรเปลี่ยนดังกล่าวนั้นจึงทำให้เกิดบรรยากาศของ “ทุกข์” หรือ “ความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นสภาวะหรือบรรยากาศที่ดำรงอยู่ในภาพเดิมไม่ได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นในแง่ของโลกวิสัยนั้นไม่สามารถเป็นไปตามความต้องการ หรืออำนาจของสิ่งใด หรือบุคคลใด กล่าวคือไม่มีสิ่งใด หรือบุคคลใดบังคับให้มันไม่เปลี่ยนหรือไม่ให้ขัดแย้งกัน ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยธรรมชาติแล้ว สรรพสิ่งต้องขัดแย้งกัน แต่ถึงกระนั้น พระพุทธศาสนาก็ได้เหลือ “พื้นที่” ของความ “ไม่ขัดแย้ง” เอาไว้ให้ “สภาวะสูงสุด” นั่นก็คือ “พระนิพพาน” ความขัดแย้งก็มิได้สะท้อนแง่มุมในเชิงลบแต่เพียงด้านเดียว เพราะใน ความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งก็สะท้อนแง่มุมในเชิงบวกด้วย ประเด็นปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ท่าทีของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวกับข้องกับความขัดแย้งในครอบครัว หรือสังคมเป็นที่ตั้งว่าจะมองความขัดแย้งในมิติใด จะเห็นว่า หากบางคนมองความขัดแย้งในแง่ลบ หรือแง่บวก มักส่งผลต่อพฤติกรรม หรือการจัดการแก้ไขความขัดแย้งด้วย ในหลายกรณีพบว่า ผู้ที่มองความขัดแย้งในแง่ลบ มักจะ “ใช้ความรุนแรง” ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มองความขัดแย้งในแง่บวกมักจะ “ใช้ความไม่รุนแรง” ในการจัดการความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ของธรรม และวินัยนั้น ความขัดแย้งเกิดขึ้นจาก ๒ มิติ ใหญ่ ๆ กล่าวคือ ทั้งภายใน (อัชฌัตตัง) และภายนอก (พาหิรัง) แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่พระพุทธศาสนานำเสนอคือ ตัวแปรสำคัญนั้นเกิดได้ทั้งกุศลมูล และอกุศลมูล รวมถึง ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ เป็นแรงผลักดันให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงได้นำเสนอ “แผนปฏิบัติการ” (Action Plan) เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งแผนปฏิบัติการบางอย่างนั้นพระพุทธเจ้าได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง และแผนบางอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำให้พระภิกษุได้ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการด้วยกลุ่มของพระสงฆ์เอง จะเห็นว่าเริ่มแรกของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาพบว่า พระพุทธเจ้าได้ใช้แนวคิดแบบ “อัตตาธิปเตยยะ” หมายถึงการที่พระองค์เป็นศูนย์รวมเพื่อบัญชาการหรือสั่งการในประเด็นต่างๆ แต่เมื่อพระสงฆ์มีจำนวนมากยิ่งขึ้น พระองค์ได้เปลี่ยนระบบการบริหารแบบใหม่เป็นการให้ความสำคัญแก่สงฆ์ หรือ “โลกาธิปเตยยะ” หรือ “สังฆาธิปเตยยะ” อันเป็นการกระจายอำนาจให้แก่คนกลุ่มใหญ่ ถึงกระนั้นสิ่งที่อัตตาธิปเตยยะ และโลกาธิปเตยยะจะขาดมิได้คือ “ธัมมาธิปเตยยะ” อันเป็นการปกครองหรือทำหน้าที่โดยมี “ความชอบธรรมเป็นศูนย์กลาง” จะพบว่า “ความถูกต้อง” หรือ “ความชอบธรรม” (ธรรมิกา) เป็น “หัวใจ” ของรูปแบบการจัดการความขัดแย้งของพระพุทธเจ้าในทุก ๆ วิธี และชุดของวิธี ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอหลักการ “อธิกรณสมถะ ๗ ประการ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการระงับความขัดแย้งนั่น พระองค์ทรงคำนึงถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ และในทุกๆวิธี พระองค์ได้นิยามว่า คำว่า “ความชอบ” ในชุดของวิธีนี้คืออะไร ฉะนั้น รูปแบบการจัดการความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ ทั้งในแง่ของธรรม ได้แก่ “การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” แล้ว ในแง่ของวินัยก็ประกอบไปด้วยสัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ ตัสสปาปิยสิกา เยภุยยสิกา และ ติณวัตถารกะ ซึ่งทุกวิธี หรือชุดวิธีจะแฝงไปด้วย “ชอบธรรม” ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ดำรงอยู่บนฐานของความชอบธรรมอีกประการหนึ่งคือ “ความพร้อมหน้า” (สัมมุขาวินัย) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความ “โปร่งใส” “ยุติธรรม” และ “ตรวจสอบได้” เป็นต้น ที่คู่กรณีจะได้รับจากการพิจารณา หรือตัดสินความขัดแย้ง หรือพิพาทกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของความชอบธรรมที่เพียบพร้อมไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้นั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่ไม่มีความหวาดระแวง และรังเกียจกันเกี่ยวศีลาจารวัตร อันจะทำให้สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่เหมาะแก่การฝึกฝนพัฒนาตนเองตามแนวไตรสิกขาเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดกล่าวคือ “พระนิพพาน” ต่อไป