บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เทคนิคให้นักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาสาระ

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์
เทคนิคให้ นศ. เรียนเนื้อหาสาระโดยการเรียนแบบที่ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เรียนจากสถานีนิทรรศการความรู้ ได้ฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยน จดบันทึก เมื่อพอใจแล้วก็เคลื่อนไปสถานีต่อไป ตัวนิทรรศการจัดได้หลากหลายแบบ ตั้งแต่ง่ายที่สุดคือใช้กระดาษ ฟลิพชาร์ท เขียนคำถามคำเดียว หรือเขียนข้อความที่คัดลอกมา ไปจนถึงหนังสั้น วิดีโอคลิป หรือวัสดุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนพร้อมคำถามหรือประเด็นอภิปราย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 25. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (5) สถานีความรู้

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 5 :  Stations

 

SET 5   สถานีความรู้

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   หลากหลาย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

นี่คือเทคนิคให้ นศ. เรียนเนื้อหาสาระโดยการเรียนแบบที่ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น    แต่เรียนจากสถานีนิทรรศการความรู้   ได้ฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยน จดบันทึก   เมื่อพอใจแล้วก็เคลื่อนไปสถานีต่อไป    ตัวนิทรรศการจัดได้หลากหลายแบบ   ตั้งแต่ง่ายที่สุดคือใช้กระดาษ ฟลิพชาร์ท เขียนคำถามคำเดียว   หรือเขียนข้อความที่คัดลอกมา    ไปจนถึงหนังสั้น วิดีโอคลิป   หรือวัสดุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนพร้อมคำถามหรือประเด็นอภิปราย

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกประเด็นที่เหมาะต่อการเรียนจากนิทรรศการ   และเตรียมคิดว่าวัตถุ หรือรายการสิ่งของใดบ้างที่จะนำมาใช้กระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้ในมิติที่ลึก และดึงดูดความสนใจของ นศ.
  2. วางแผนว่าจะมีกี่สถานี   สถานีอะไรบ้าง   แต่ละสถานีใช้เวลาเท่าไร   ใช้อะไรเป็นนิทรรศการ   สถานีแบบ stand alone จะดีกว่า คือไม่ใช่ว่าต้องผ่านสถานีที่ ๑ ก่อน จึงจะศึกษาสถานีที่ ๒ รู้เรื่อง   เพราะจะเปิดโอกาสให้ นศ. มีอิสระที่จะเริ่มที่สถานีไหนก็ได้
  3. เตรียมนิทรรศการ   และจัดทำคู่มือการเรียนจากสถานีความรู้แต่ละสถานี   พร้อมด้วยใบงานคำถาม
  4. วางแผนจัดการกลุ่ม นศ. เข้าชมนิทรรศการ ว่าจะให้เข้าไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละกี่คน   เวียนเส้นทางอย่างไร ฯลฯ    ยิ่งกลุ่มเล็กจะยิ่งทำให้การเรียนรู้เข้มข้น เช่น ๒ - ๓ คน
  5. แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม  มอบใบงาน   และอธิบายวิธีเรียนจากนิทรรศการ   พร้อมกับมอบหมายคำถาม

ตัวอย่าง

วิชา African American Literature

ใช้การเรียนจากสถานีนิทรรศการเป็นกิจกรรมติดตามผลการอ่านหนังสือที่มอบหมาย   ซึ่งตามตัวอย่างคือ Autobiography of My Mother โดย Jamaica Kincaid จัดสถานีนิทรรศการ ๖ สถานี   แบ่ง นศ. เป็นกลุ่มละ ๕ คน   สถานีแรก คัดลอก ๒ ประโยคแรกมาไว้    และตั้งคำถามว่า ถ้อยคำนี้ให้ความหมายหรือความคาดหวังอะไรแก่ นศ.   นศ. แต่ละกลุ่มได้รับปากกาสำหรับเขียนคำตอบ (ลงบนกระดาษที่จัดไว้ที่แต่ละสถานี)    ปากกาของแต่ละกลุ่มต่างสีกัน   เมื่อครบเวลา ๑๐ นาที ครูออกคำสั่ง “เปลี่ยนกลุ่ม”   เมื่อวนครบรอบแล้ว วนใหม่อีกรอบ ไปโหวดว่าคำตอบของกลุ่มไหนแสดงความคิดที่ลุ่มลึกหรือน่าสนใจที่สุด   การเรียนคาบนี้จบลงด้วยการอภิปรายทั้งชั้น   และการมอบรางวัลแก่กลุ่มที่ได้รับคะแนนโหวดสูงสุด

 

วิชาคณิตศาสตร์

เป้าหมายของการเรียนจากนิทรรศการ ก็เพื่อให้ นศ. ในรายวิชาคณิตศาสตร์เรียนแก้ตัว ได้เข้าใจคุณค่าของคณิตศาสตร์ต่อชีวิตในอนาคตของตน   โดยจัดนิทรรศการ “คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน : ตัวเลขมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของแต่ละวันอย่างไร”  ในช่วงต้นๆ ของภาคการศึกษา    โดยจัดให้มี ๕ สถานี

สถานีแรกชื่อ “เล่นแล้วชนะ”  ประกอบด้วยโปสเตอร์ชักชวนเล่นการพนันหลากหลายชนิด   แล้วให้ นศ. จับสลากกระดาษสีจากกล่อง    แล้วทำความเข้าใจว่า probability ที่จะชนะคือเท่าไร

สถานีที่ ๒ ชื่อ “การออมกับการกู้”  แสดงดอกเบี้ยธรรมดา กับดอกเบี้ยทบต้น   เอาตัวเลขดอกเบี้ยเงินฝาก  กับดอกเบี้ยเงินกู้ (กรณีประเทศไทยน่าจะเอาดอกเบี้ยเงินผ่อนรถยนต์) มาให้ดู    แล้วถามว่า ความรู้จากข้อมูลเหล่านี้ จะมีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต ด้านการเงิน ของตนอย่างไร

สถานีที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ “การเพิ่มประชากร”  “ทำครัวด้วยตัวเลข” และ “คณิตศาสตร์ : ภาษาสากล”

หลังจาก นศ. ผ่านครบทุกสถานี   จัดการอภิปรายทั้งชั้น   แล้วจึงเก็บกระดาษใบงาน

 

วิชาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

เพื่อให้ นศ. เข้าใจมิติเชิงลึกของ “กรณี วอเตอร์เกท” ที่ทีมงานของพรรครีพับลิกันลอบดักฟังการประชุมพรรคเดโมแครต ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕   ซึ่งต่อมามีผลให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปลด   ครูมอบให้ นศ. เข้าไปเรียนรู้นิทรรศการ online ของ Ford Library ชื่อ “The Watergate Files” ซึ่งมี ๕ นิทรรศการย่อย    โดยครูมีเอกสารใบงานเป็นคู่มือในการศึกษาจากแต่ละนิทรรศการ   พร้อมคำถามให้ นศ. ตอบทั้งแบบ ตอบด้วยหลักฐาน (objective answer)  และตอบด้วยความคิดเชิงนามธรรมของตนเอง (subjective answer)    และสุดท้าย ให้ นศ. เขียนเรียงความสะท้อนการเรียนรู้ของตน

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ใช้ได้ดี   ดังตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์ข้างบน

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

คำแนะนำ

 

หมายเหตุของผม

วงการศึกษาไทยควรพิจารณาดำเนินการพัฒนาศักยภาพของแหล่งเรียนรู้ภายนอกสถานศึกษา (เช่น พิพิธภัณฑ์  แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี   สวนพฤกษศาสตร์  วนอุทยาน ฯลฯ)  ให้จัดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ได้เหมาะต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษายิ่งขึ้น   รวมทั้งมีนิทรรศการ online ด้วย

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield SD, Preskill S. (2005) Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic classrooms. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 107-108.

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๕

 

คำสำคัญ (keywords): active learning, Barkley, motivation, student engagement, Student Engagement Techniques, transformative learning, การเรียนโดยลงมือทำ, นักเรียนสนุกกับการเรียน, 551012
· เลขที่บันทึก: 505297
· สร้าง: 12 ตุลาคม 2555 04:23 · แก้ไข: 12 ตุลาคม 2555 12:13
· ผู้อ่าน: 42 · ดอกไม้: 3 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 2 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน