วิถีไทยกับการสร้างความเป็นพลเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

 

พลเมืองมีส่วนเป็นผู้กระทำ มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบ และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ

บันทึกนี้คัดลอกจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

"ความเป็นพลเมือง" เป็นคำที่เริ่มใช้กันมากขึ้นในช่วง ๒ ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง   ที่พลังจากประชาชนในสังคมรวมตัวเข้าร่วมขับเคลื่อนกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเป็นอำนาจทางการเมืองที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ จนเกิดการเมืองของพลเมืองที่มีการขยายตัวและทำงานในรูปแบบต่างๆโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากรัฐ เช่น องค์กร สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ          การศึกษา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดจากพลังทางการเมืองของประชาคมหรือภาคพลเมืองที่เห็นเด่นชัดก็คือ การต่อต้านอำนาจทหารในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕  และหลังจากนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสังคม ทั้งด้านการเมือง การศึกษา สาธารณะสุข สื่อสาธารณะ และการกระจายอำนาจ กระทั่งสามารถผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็นฉบับที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคพลเมือง และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างมากที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง เช่นให้อำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล โดยมีกลไกการตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระหลายองค์กร ให้มีการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองเพื่อพัฒนาการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นต้น

 

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ คำว่า "พลเมือง" เป็นคำสำคัญที่ได้รับการบันทึกไว้ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย "ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันเป็นช่วงเวลาของปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงในเรื่องของปัญหาประชาธิปไตยที่ได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

นอกจากนี้ องค์กรภาครัฐก็ได้มีการทำงานด้านการสร้าง"พลเมือง" อย่างแข็งขันหลายองค์กร อาทิเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สถาบันพระปกเกล้า และสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น  รวมทั้งภาคประชาชนหรือภาคพลเมืองก็ได้มีการเคลื่อนไหวด้านการ"สร้างพลเมือง" โดยกลุ่มองค์กร สมาคม และนักวิชาการอิสระทำการศึกษาเพื่อหารูปแบบ "การสร้างพลเมือง" ที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาก่อนนี้หลายปีแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิทางการเมืองของประเทศเยอรมัน เช่น สถาบันนโยบายศึกษาที่ทำงานด้านการส่งเสริมกระบวนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ จึงเป็นที่เด่นชัดว่าสังคมไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในความต้องการที่จะสร้างคนในทิศทางที่จะให้เป็น "พลเมือง"ในแบบของประชาธิปไตย ดังที่งานของสถาบันพระปกเกล้า กำหนดหัวข้อไว้ว่า "ความเป็นพลเมือง กับอนาคตประชาธิปไตยไทย" ซึ่งหมายความว่า ประชาธิปไตยไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ก็ด้วยการกำหนดของพลเมืองไทยนั่นเอง

แต่"ความเป็นพลเมือง" สำหรับคนไทยและสังคมไทยก็ยังไม่มีการทำความเข้าใจให้ตรงกันชัดเจน การใช้คำว่าประชาชนและพลเมืองจึงถูกใช้ควบคู่กันไปอยู่เสมอโดยมิอาจแยกแยะความหมายและความสำคัญของคำดังกล่าว

การพูดถึง "ความเป็นพลเมือง" ในทุกวันนี้ เราพึงเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า เรากำลังพูดถึง "พลเมือง" ในความหมายของคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะคำว่า "พลเมือง" มีปรากฎอยู่ในทุกระบอบการปกครองของแต่ละประเทศ แต่พลเมืองจะมีบทบาท หน้าที่  และบุคลิกภาพอย่างไรก็อยู่ที่ระบอบทางการเมืองของรัฐนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของรัฐที่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและค้ำจุนโดยคนในสังคมหรือประชาชนนั่นเอง ซึ่งรวมถึงวิถีชีวิต การกินเป็น-อยู่เป็น และคิดเป็นอย่างไร ล้วนอยู่ที่การเมืองการปกครองนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ กึ่งเผด็จการประชาธิปไตย หรือกึ่งประชาธิปไตย และประชาธิปไตย ผู้อยู่ภายใต้ระบอบนั้นๆก็จะถูกออกแบบมาให้อยู่ตามครรลองของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆจนกลายเป็นวัฒนธรรม หรือเป็นวิธีปฎิบัติ เช่น ระบอบเผด็จการ พลเมืองก็จะเป็นผู้รับสนองนโยบายของรัฐ  เคารพกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นผู้ตามที่ดี  ไม่ต้องมีความคิดเห็นเป็นผลดีที่ไม่กล้าโต้แย้ง เพราะถูกจำกัดเสรีภาพและรัฐทำให้ทุกอย่างอยู่แล้ว ดังที่เราเคยได้ยินคำว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ซึ่งลักษะเช่นนี้อยู่ในขั้วตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ให้อิสระการคิด การแสดงออก กระทั่งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมและการเมืองได้

ความเป็นพลเมืองในสังคมเผด็จการและประชาธิปไตย จึงมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดร.วิชัย ตันศิริ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เป็นหัวหอกให้เกิดการปฎิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของความเป็นพลเมืองไว้ ๒ ลักษณะในหนังสือวัฒนธรรมพลเมือง ความเป็นพลเมืองในความหมายเก่า หมายถึงการเป็นผู้รับ คอยแบบมือรับทั้งผลบวกและผลลบจากนโยบายรัฐบาล การเป็นพลเมืองจึงเป็นเพียงผู้ตาม ผู้ปฎิบัติตามคำสั่งและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นพลเมืองที่ยอมรับอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ คือ เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองนั่นเอง

ความเป็นพลเมืองในความหมายใหม่ คือ พลเมืองมีส่วนเป็นผู้กระทำ มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบ และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ อันเป็นความหมายของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ที่มองเห็นการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่พลเมืองต้องเข้าร่วมรับผิดชอบ ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมือง ผู้นำ หรือรัฐบาลเท่านั้น

โปรดติดตามตอนต่อไปในสมุดบันทึก "ประชาธิปไตย"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2013 เวลา 23:56 น.