"การเมือง " คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

 

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

คำว่า "การเมือง" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "Polis" เป็นคำกรีกโบราณ แปลว่า เมือง ส่วนการเมืองก็คือกิจกรรมที่ทำกันในเมืองเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตส่วนรวม ในความหมายนี้ การเมืองจึงเป็นเรื่องกิจสาธารณะ เรื่องของประโยชน์ส่วนรวม การเมืองจึงเป็นกิจกรรมธรรมชาติเพื่อมนุษย์ชาติ รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมือง และการเมืองมิใช่มีไว้สำหรับนักการเมืองเท่านั้น ดังที่อาริสโตเติ้ล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "โดยธรรมชาติแล้วพวกเราล้วนเป็นผู้สร้างการเมือง"

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

สำหรับการเมืองในประเทศไทยที่เราได้เห็นมี ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ การเมืองแบบตัวแทน โดยประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง อำนาจทางการเมืองถูกจำกัดวงอยู่ในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ การเมืองในแบบแรกถูกผูกขาดโดยนักการเมืองหรือรัฐบาล ดังจะเห็นนโยบาลและโครงการต่างๆที่รัฐบาลประกาศออกมาโดยประชาชนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ เป็นการเมืองที่ผูกขาดการให้บริการ และประชาชนรอรับการบริการ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดีก็ตาม

ส่วนประเด็นที่สอง คือการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคพลเมือง ถือเป็นอำนาจทางการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากพลังในสังคมนอกกลไกรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นอำนาจที่มาจากประชาสังคม (civil society) ซึ่งหมายถึง สถาบันและพลังต่างๆในสังคมที่มิใช่สถาบันของรัฐ ซึ่งได้แก่ ส่วนเอกชน อันหมายรวมถึงองค์กร และพลังอาสาเอกชนที่อยู่นอกสถาบันอำนาจรัฐด้วย

เป็นการเมืองที่พลเมืองเชื่อว่าตนสามารถเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีได้ แก้ปัญหาได้ เป็นการเมืองที่คนสนใจต่อปัญหาสังคมและต้องการแก้ไข โดยการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร สมาคม หรือชุมชน  เพื่อทำกิจสาธารณประโยชน์น้อยใหญ่ เป็นอิสระจากกลไกอำนาจรัฐ ไม่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและรัฐบาลเท่านั้น พลเมืองจึงไม่ใช่เพียงผู้หย่อนบัตรเลือกตั้ง และปฎิบัติตามกฎหมาย

"การเมือง" จึงมิใช่จะสัมพันธ์กับสิ่งที่นักการเมืองทำไปทุกเรื่อง แต่เมื่อการเมืองเป็นเรื่องกิจสาธารณะ การเมืองของพลเมืองจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้เดือดร้อนมองเห็นปัญหาและอยากแก้ไขให้ชุมชนปลอดภัยน่าอยู่และมีสันติสุข การเกิดขึ้นของพลังสังคมในรูปของประชาสังคม หรือกลุ่มพลเมืองที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ การศึกษา ฯลฯ เหล่านี้จึงทำให้พลเมืองมีความหมายในทางการเมืองของสังคมประชาธิปไตย และเป็นความหมายที่กว้างทำให้การเมืองครอบคลุมการกระทำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะ แม้ว่าทุกเรื่องทุกอย่างจะไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง แต่ก็มีมิติทางการเมืองอยู่ในแทบทุกเรื่องที่นำพาผู้คนแม้ไม่รู้จักกันให้มาร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมสาธารณะ (Civic Engagement) ตั้งแต่ระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องโรคเอดส์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เป็นต้น พลเมืองจึงเป็นผู้มีส่วนกระทำ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการเมืองที่พลเมืองต้องการมีพันธะทางการเมือง                       (Political Engagement)

สถานะของพลเมืองจึงเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างการเมือง ดังที่ อาริสโตเติ้ล ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ความเป็นพลเมืองจึงมิใช่ผู้ชมหรือผู้เคราะห์ร้ายทางการเมือง แต่บทบาทนี้ได้เปลี่ยนเขาจากการเป็นประชาชนที่รอชมและเรียกร้องโอกาสจากรัฐบาล จากเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่รอการช่วยเหลือมาเป็น "ผู้กระทำ" ที่สามารถทำการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ และกลายเป็นอำนาจทางการเมืองใหม่ ที่พลเมืองสร้างขึ้นด้วยตัวเอง" นี่คือความแตกต่างระหว่างประชาชนกับพลเมืองสำหรับประเทสของเราจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตใจประชาธิปไตยเช่นนี้ได้

สำหรับสังคมไทย นอกจากคำว่า "พลเมือง" ที่ใช้ในความหมายของความเป็นพลเมืองแล้ว คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็มักจะใช้คำว่าประชาชนด้วย  ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ประชาชน" (people) นั้น มีมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง (non-ruler) ในสมัยโบราณนั้นประชาชนเป็นไพร่หรือทาสเกือบทั้งหมด การเมืองสมัยใหม่ได้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นไพร่หรือทาส ให้กลายเป็นเสรีชนที่มีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน กลายเป็นราษฎร์  เป็นประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และต้องยึดถือปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเช่นกันหมด การจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องเปลี่ยนราษฎรหรือประชาชนให้เป็นพลเมืองด้วย สำหรับประเทสตะวันตกโดยความหมายของพลเมืองนั้น คือ ผู้ที่นอกจากเสียภาษีและปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังต้องมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมีสิทธิเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่วนรวมร่วมกับรัฐด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ การสร้างความตระหนักของบทบาทพลเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยยังไม่มีพลังและขาดความต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองจึงเป็นการเข้าร่วมทางการเมืองโดยผ่านตัวแทนคือการเลือกตั้งเท่านั้นและยังต้องตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของการแก่งแย่งผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองในระดับชนชั้นนำ ที่มีรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีเผด็จการรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงถูกกีดกันออกจากการเมืองมากยิ่งขึ้น ทำให้พลังประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่มีความต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นรัฐราชการโดยมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้แนวคิดเรื่องการสร้างพลเมือง หรือกระบวนการกล่อมเกลา (socialization) ทางสังคมเพื่อให้มีพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองจึงยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

โดยที่หัวใจปรัชญาของประชาธิปไตย คือการปกครองกันเอง พึงตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการพลเมืองที่มีวัฒนธรรมของพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ( Responsibility) ต่อบ้านเมืองหรือส่วนรวม มีความเสียสละต่อส่วนรวม และรวมกลุ่มเพื่อทำงานส่วนรวม (Civic Engagement) มีความเป็นอิสระ (Freedom) รักในเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์  เคารพในความเสมอภาค (Human Rights) ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ถือว่าตนเป็นพลเมืองของประเทศซึ่งมีหน้าที่พื้นฐานต่อบ้านเมืองร่วมกัน  ความพยายามใดๆ ของชุมชนท้องถิ่นที่พยายามพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาจากการร่วมจิตร่วมใจของคนในชุมชนด้วยกันจนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเสียเวลารอนโยบายจากรัฐ-ราชการ  ไม่ว่าท้องถิ่น หรือระดับชาติ เป็นการลดการพึ่งพาจากภายนอก แต่สามารถผนึกผสานพลังจากภายในชุมชนด้วยกันเอง จึงนับว่าเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ในระดับชุมชนอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงเป็นประชาธิปไตยที่อุดมด้วยคุณธรรม เพราะชุมชนมีจิตใจที่เสียสละ ทำความดีร่วมกัน เป็นสำนึกประชาธิปไตย สำนึกสาธารณะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นฐานที่แข็งแกร่งในการสร้างพลเมืองในระดับฐานรากของสังคม

โปรดติตามอ่านตอนต่อไปในบันทึกหัวข้อ "คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:05 น.