คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ " การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

 

ต่อเมื่อทำให้ประชาชนได้เป็นพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถจะดูแลปกครองตนเองและปกครองกันเองได้ ไม่ปล่อยให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของรัฐราชการ รัฐบาล หรือนักธุรกิจการเมือง การก้าวสู่ความเป็น"พลโลก" ในทางสากลก็อยู่ไม่ไกล

"ระบอบประชาธิปไตย ต้องการนักประชาธิปไตย"  เป็นคำกล่าวที่เกิดจากประสบการณ์ของชาวเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ให้ความสำคัญกับพลเมืองในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง (Political Participation) มีจิตวิญญาณสาธารณะ (Civic Engagement) และมีความรับผิดชอบทางสังคม  (Social Responsibility) ซึ่งการที่พลเมืองจะแสดงออกถึงบทบาทเหล่านี้ได้เขาต้องมีการศึกษา มีความรู้และความเข้าใจทางการเมือง (Political Literacy)  มีความเสมอภาค (Equality) รักในความยุติธรรม (Justice) มีเสรีภาพ (Freedom)  ในการแสดงออกเพื่อประโยชน์ของปัจเจกและส่วนรวม และแน่นอน การมีอยู่ของเสียงส่วนใหญ่ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของเสียงส่วนน้อยด้วย คือ ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย คุณลักษณะดังกล่าวของพลเมืองเยอรมันก็เพื่อผดุงระบอบประชาธิปไตยไม่ให้หันกลับไปหาระบอบอื่นที่อยู่ในด้านตรงข้ามที่สังคมเยอรมันได้เผชิญมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวโดยสรุปแล้ว ลักษณะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสากลนั้น ได้มีการทำการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการจากทุกทวีปมารวมตัวกัน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และได้มีการพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑.การเป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษา และความสามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจในสังคมของตนและสังคมโลก เช่น เป็นสมาชิกของสังคมโลก

๒.มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในบทบาทส่วนตนและต่อสังคม

๓.มีความสามารถที่จะเข้าใจ ยอมรับ และอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม

๔.มีความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ

๕.มีความเต็มใจที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยท่าทีสันติ ไม่ใช่ความรุนแรง

๖.มีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิตและอุปนิสัยการบริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

๗.ความสามารถที่จะเข้าใจและปกป้องสิทธฺิมนุษยชน

๘.มีความเต็มใจและมีความสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ซึ่งบุคลิกลักษณะทั้ง ๘ ประการนี้ มีลักษณะเป็นพลเมืองสากล คือเป็นได้ทั้งพลเมืองของประเทศและเป็นพลโลก ด้วยเหตุที่โลกปัจจุบันนี้ แต่ละประเทศก็ต่างมีสถานที่พึ่งอิงพิงกันไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ผลที่เกิดขึ้น ณ.ที่หนึ่งก็จะส่งผลต่ออีกที่หนึ่งเสมอ  เพราะโลกปัจจุบันมีการสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และไม่มีพรมแดน การพูดถึงประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงกล่าวล่วงไปถึงประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการทำลายสิ่งแวดล้อม ณ. ที่หนึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออีกที่หนึ่งได้ พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมีจิตใจรักสิ่งแวดล้อม การกินอยู่ ดำรงชีพ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด บนโลกใบนี้อันจะเป็นการละเมิดต่อชีวิตผู้อื่นและทำลายล้างซึ่งกันและกัน ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักสำคัญอันหนึ่งของประชาธิปไตย

คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมไทยก็ควรที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันดังกล่าวข้างต้น เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกของสังคมโลก เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน (ASEAN)  และอีก ๒ ปีข้างหน้า ASEAN จะก้าวเข้าสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จึงมีแต่การสร้างพลเมืองไทยให้มีมาตราฐานสากล ให้ยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในทุกที่ในโลก ไม่ว่าในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ในกลุ่มประชาคมยุโรป (EU)  หรือในเวทีใดๆก็ตาม คุณลักษณะทั้ง ๘ ประการนั้น มีเงื่อนไขหลักอยู่ที่ให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ความร่วมมือกัน ความเข้าใจกัน ใช้เหตุผล แม้แตกต่างกัน และมีสันติโดยไม่ต้องมีความรุนแรงหรือละเมิดต่อกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์หรือสรรพสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอันเป็นคุณค่า-คุณธรรมร่วมที่อยู่เหนือชาติ ภาษา และวัฒนธรรมประเพณีทั้งมวล

ต่อเมือทำให้ประชาชนได้เป็นพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถจะดูแลปกครองตนเองและปกครองกันเองได้ ไม่ปล่อยให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของรัฐราชการ รัฐบาล หรือนักธุรกิจการเมือง การก้าวสู่ความเป็น "พลโลก"ในทางสากลก็อยู่ไม่ไกลแล้ว

การจะสร้างพลเมืองอย่างไร ให้มีความรู้ทางการเมืองและให้รู้เท่าทันการเมือง (Political Literacy)  หรือให้รู้บทบาทของพลเมืองที่มีทัศนคติและทักษะในการทำงานอุทิศตนเพื่อสังคมและส่วนรวมได้มากขึ้น  มีความเชื่อมั่นในพลังการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่มาจากรัฐ และทำอย่างไรให้คนไทยได้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ (Ownership) ประเทศของตน เจ้าของสิ่งของสาธารณะทั้งหลายที่ได้มาโดยภาษีอากร น้ำพักน้ำแรงของทุกคน เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้สึกหวงแหนและรักษาไว้ให้เป็นสาธารณะสมบัติจนชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องช่วยกันคิดอย่างมีฉันทานุมัติ และสร้างเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน (Political Will)  ในการสร้างคนให้มีการใช้ชีวิต วิธีคิด วิธีทำงาน ให้สอดคล้องกับระบอบการเมือง และเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้าให้ได้นั้น จึงพึงพิจารณาจุดอ่อน และจุดแข็ง ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยให้ได้อย่างเข้าใจ เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีอยู่ให้เป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยให้ได้

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2013 เวลา 22:17 น.