ลักษณธทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ขัดขวางหรือสนับสนุนต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

คุณภาพของพลเมืองเป็นตัวชีวัดอนาคตประชาธิปไตย

วิถีไทยที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศไทย

๑.การเป็นรัฐอุปถัมป์

นอกจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ยังได้มีการกำหนดและบงการความสัมพันธ์อาณาบริเวณของการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มิได้กระตุ้นส่งเสริมพลังต่างๆ ในประชาสังคม หากแต่จำกัด-ควบคุมโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศข้อบังคับต่างๆ เช่นการห้ามสมาคมการค้า องค์กร  สมาคม มูลนิธิ มัวัตถุประสงค์ทางการเมือง อันเป็นการแยกประชาสังคม ออกจากการเมือง และมีผลทำให้ เชื่อยชาและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมือง

การผูกขาดการใช้อำนาจที่ไม่ส่งเสริมประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง จึงสร้างผลเสียต่อสังคมโดยรวม เป็นการไม่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเหตุผลของมนุษย์ กดประชาชนให้อยู่ในพันธนาการทางความคิดแบบผู้อาวุโส ผู้น้อยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้ เป็นเผด็จการทางความคิดและการกระทำที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสังคมและสร้างชาติ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขาดพลัง ต้องยอมรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของรัฐที่มาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากจนเกินไป

๒.การศึกษา

ระบบการเมือง-การปกครองมีความสอดคล้องต้องกันกับพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม  การศึกษาไทยก็ถูกออกแบบและกำกับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองนั่นเอง รัฐไทยในอดีตก็ได้เน้นการกล่อมเกลาให้ราษฎร์ได้เข้าใจหน้าที่ของตนเพื่อสนองต่อรัฐโดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาในเมืองหลวงจึงเน้นหนักไปในการสร้างคนเพื่อรับใช้กลไกหลักของรัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ขณะที่การขยายการศึกษาไปยังส่วนต่างๆของประเทศเป็นการสร้างพลเมืองที่ดี  ดังเช่นหนังสือธรรมจริยา ที่ใช้สอนตั้งแต่รัชกาลที่ ๕  ก็เป็นมาตราฐานของรัฐในการให้การกล่อมเกลาทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

สำหรับรัฐไทยใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญนิยม หรือระบอบประชาธิปไตย ก็ได้มีการนำระบบการจัดการศึกษาสมัยใหม่ที่มีหลักสูตรกลาง มีการเรียนการสอนในระบบที่ควบคุมโดยรัฐนั้น ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญของการควบคุมทางสังคมด้านอุดมการณ์ของรัฐที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆกับการควบคุมทางสังคมด้านการใช้อำนาจการปกครองบังคับ การศึกษาแบบนี้จึงมีแผนการศึกษา หลักสูตรการจัดการศึกษาระดับต่างๆ อย่างครบถ้วน และใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ การจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเช่นนี้ได้ละเลยความสำคัญของความเป็นชุมชน ความเป็นพหุสังคมที่มีศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันในประเทศอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแบบวิถีชุมชนเพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่อยากหลากหลาย จึงทำให้ชุมชนอ่อนแอ และไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ขาดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในพื้นที่ที่ห่างไกลในยุดการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา กระทั่งเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม ก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้ผู้คนละทิ้งท้องถิ่นเพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตน ดังคำกล่าวที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงยิ่งขึ้น และสร้างความเสียหารทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศในชั่วปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" อันเนื่องจากระดับการศึกษาไทยไม่สามารถสร้างพลเมืองของประเทศให้มีความสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทั่งนำสู่กระแสการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการศึกษา การเมื่อง และสังคม เพื่อปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

การศึกษาที่รวมศูนย์อำนาจการจัดการไว้ที่รัฐบาลดังกล่าวส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของรัฐบาลที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่สนใจเรื่องส่วนรวม นักเรียนจึงมุ่งแข่งขันกันเรียน จนเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มุ่งหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ของตนเอง และทิ้งภาระทางสังคม-การเมืองไว้กับนักการเมือง อันเป็นค่านิยมของการบูชายกย่องผู้มีความสำเร็จทางเศรษญกิจ มากว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรมที่พร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม

๓.สื่อมวลชน

การที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากสื่อ ภายใต้การกำกับของรัฐบาลมาอย่างยาวนาน ทำให้มีผลต่อการกล่อมเกลาทางการเมืองของประชาชน  ทำให้ประชาชนไม่รู้ ไม่สนใจ และไม่เข้าใจเรื่องการเมือง ทั้งที่ทุกเรื่องของชีวืตเกี่ยวพันกับการเมืองจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทย

การพัฒนาพลเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย จึงต้องการสื่อที่มีเสรีภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองแสดงความคิดเห็นเต็มที่ สื่อสารมวลชนคือภาพสะท้อนการมีเสรีภาพของสังคม

๔.สถาบันครอบครัว

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงมีลักษณะแบบถูกจำกัดทั้งการมีทัศนคติแบบอุปถัมภ์ การไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ระบบเลี้ยงดูในครอบครัวก็ได้รับอิทธิพลนี้ไปด้วย การบ่มเพาะตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้เขามีจิตใจที่อ่อนโยน มีคุณธรรม รู้จักการมีเหตุผล แบ่งปัน รู้จักรับฟัง มีการแสดงออก และหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทด้วยการใช้กำลัง และรักความยุติธรรม แต่การเลี้ยงดูเด็กของคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร  เราสอนเด็กแบบอำนาจนิยมจากการคุ้นชินการใช้ชีวิตภายในรัฐที่ใช้อำนาจในการปกครองบังคับ เราจึงสอนเด็กโดยใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ สอนแบบใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่ลูกต้องเชื่อฟังและปฎิบัติตามโดยขาดเหตุผล

วิถีไทยที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย

๑.สังคมไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา

๒.ลักษณะวิถีไทย ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน

๓.ความเป็นพี่เป็นน้อง

๔.ความเป็นพหุสังคมในสังคมไทย

จากการตรวจสอบลักษณะไทยที่ทั้งสอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อวิถีประชาธิปไตย  ทำให้มีคำถามว่าเราจะขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคได้อย่างไร  พร้อมๆกันนั้น ก็ต้องช่วยกันส่งเสริมปัจจัยที่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยให้เต็มที่ สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่และเห็นพ้องกันมากในสังคมโดยทั่วไปคือ โครงสร้างทางสังคม และการมีระบบอุปถัมภ์ ที่เป็นเครื่องค้ำยันของการทุจริตคอรัปชั่น ที่ฝังรากในสังคมไทยมานาน  กระทั่งถ่างขยายความไม่เป็นธรรมในสังคมให้มากยิ่งขึ้น อันเป็นด้านลบที่ติดอันดับต้นๆ ของข้อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  ไม่ว่าจะเป็นด้วยการรัฐประหาร หรือการจ้องโค่นล้มกันเองของนักการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล กลายเป็นวัฎจักรอันเลวร้ายทางการเมืองของสังคมไทยที่ยังไม่อาจก้าวข้ามเพื่อให้ผ่านไปได้

การนำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้เข้าปีที่ ๘๐ ในปี ๒๕๕๕  แต่สังคมไทยก็ยังไม่สามารถปรับและเปลี่ยนแปลงให้มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตแบบประชาธิปไตยได้ คนไทยยังไม่มีการปลูกฝังวิธีคิดและวิธีการใช้ชีวิตและการงานในแบบวิถีประชาธิปไตย จึงทำตนแยกส่วนจากปัญหาทั้งทางการเมืองและสังคม ทั้งที่ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนกระทบต่อทุกคน การไม่เข้าใจและไม่เข้าถึงต่อเรื่องทางการเมืองทำให้สังคมไทยขาดพลังในการแก้ไขและพัฒนา โดยคนไทยจำนวนมากยังคงวางตัวเป็นผู้รับบริการจากนโยบายของรัฐ (Passive Citizen) ชื่นชอบนโยบายประชานิยมพวกเขาจึงเฉื่อยชา ไม่คิดเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการบ้านเมือง แล้วยังปล่อยและฝากปัญหาทั้งหลายนี้ไว้กับคนอื่นทำแทนคนไทย โดยทั่วไปจึงมักแสดงการวิพากษ์วิจารณืด้วยอารมณ์และความเห็น เพื่อแสดงความรู้สึกว่าไม่พอใจ และเรียกร้องให้คนอื่นหรือรัฐบาลเข้าช่วยแก้ไขในทุกเรื่อง ประเทศไทยจึงมีความน่าวิตกในคุณภาพของคนไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คุณภาพของคนที่ไม่คิดถึงส่วนรวม ไม่มีความคิดริเริ่ม ไม่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และรู้จักประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้นักการเมืองไร้ความรู้ไม่มีความคิดและไร้คุณธรรม มาใช้เสียงข้างมากฟอกตัวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอย่างง่ายดาย แล้วเราจึงไม่แปลกใจในสัจธรรมที่ว่าประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนก็เป็นอย่างนั้น ตราบเท่าที่เรายังไม่มีผลิตภาพของความเป็นพลเมืองที่เชื่อมั่นในพลังของตนเองต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศแล้วปล่อยให้คนอื่นคิดและทำแทนมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี ลักษณะความเป็นวิถีไทยที่ปรากฎในด้านบวกก็มีอยู่มาก และสามารถเป็นจุดแข็งและจุดขายในการเข้าสู่ความเป็นสังคมในระบอบประชาธิปไตยได้ในอนาคตอันใกล้หากคนไทยได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแก้ไขจุดที่เป็นด้านลบแล้วกลบด้วยด้านที่เป็นบวก ให้สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยดังได้กล่าวไว้แล้ว

การมีอยู่ของระบอบประชาธิปไตย จึงอยู่ที่คุณภาพของคนภายใต้ระบอบที่รัฐและระบบการศึกษาได้ออกแบบไว้ คุณภาพของพลเมืองจึงเป็นตัวชี้วัดอนาคตประชาธิปไตย ซึ่งขึ้นอยู่กับการสร้างให้เกิดขึ้นด้วยเจตจำนงร่วมกันของคนทั้งสังคม ด้วยเหตุที่ประชาธิปไตยไม่มีขาย  และมนุษย์ก็ไม่มียืนประชาธิปไตยในตัวเอง อนาคตของประชาชนไทยอยู่ในมือของทุกคน การปฎิรูปการเมือง และการปฎิรูปการศึกษา ควรให้เวลาแก่การพูดถึงการสร้างพลเมืองให้มากที่สุดและกว้างขวางที่สุด เพื่อสร้างพลเมืองในความหมายใหม่ที่ปลอดพ้นจากกรอบเดิมที่เป็นการชีนำและกำกับจากส่วนกลาง จากบนลงล่าง แต่ปรับสู่แนวระนาบที่มีเสียงการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ยุทธศาสตร์การสร้างพลเมืองของประเทศในสถานการณ์การปฎิรูปทั้งการเมืองและการศึกษา จำเป็นต้องเปิดกว้างด้วยบรรยากาศประชาธิปไตย เพื่อการถกเถียงสาธารณะจากทุกสถาบัน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน อย่างเข้าใจ กระทั่งเกิดพลัง เป็นเจตจำนงร่วมกันในทางการเมือง นี่จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ท่ามกลางการแตกแยกทางความคิดทางการเมืองของพลเมือง ด้วยการแสวงหาด้านบวก  และนำสู่การปฎิรูปสังคมอย่างทั่วด้าน เพื่อการสร้างนักประชาธิปไตย-พลเมืองใหม่ขึ้นมาค้ำยันระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้า