ชีวิตพอเพียง : ทำการบ้านทุกวัน บทความของ อาจารย์วิจารณ์ พานิช VS ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

วันเสาร์ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

“การบ้าน” ในที่นี้หมายถึงงานที่จะต้องนำส่งเวลานี้การบ้านของผมมี ๔ แบบ  คือ (๑) PowerPoint ประกอบการบรรยาย  (๒) คำนิยมหรือคำนำหนังสือ  (๓) บันทึกสำหรับลง บล็อก  อันที่ ๓ นี้ เป็นการบ้านที่กำหนดให้ตนเอง  (๔) อื่นๆ  เช่นมีคนมาขอให้ไปพูดในโอกาสพิเศษบ้างเป็นครั้งคราว

ผมเดาว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานเหล่าคงจะไม่ทราบว่าผมใช้เวลามากแค่ไหน ในการเตรียมงานหนึ่งๆ  การบรรยายหนึ่งชั่วโมง ใช้เวลาเตรียมอย่างน้อย ๓ ชั่วโมง  บางกรณีที่ผมไม่คุ้น แต่ก็ยังอยากรับ (เพราะได้เรียนรู้ และมันท้าทายดี) อาจใช้เวลากว่า ๒๐ ชั่วโมง  ต้องไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีก และต้องค้นคว้ามาก  โดยผมทำเองทั้งหมด ไม่ได้ใช้ผู้ช่วยเลย   ผมเคยคิดเหมือนกันว่า ที่ผมดำรงชีวิตโดยไม่มีเลขานุการจริงๆ จังๆ  ไม่มีผู้ช่วยงานแบบนี้อาจเป็นการคิดผิด  เพราะถ้ามีผู้ช่วยอาจทำประโยชน์ได้มากกว่านี้

ผมจึงเป็นคนมีการบ้านให้ทำมาก  เรียกได้ว่าล้นมือ  แต่ผมก็ชอบ เพราะสนุก และได้ถือโอกาสค้นคว้าตีความทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ  โดยผมพยายามฝึก “มองต่างมุม” ในเรื่องต่างๆและถกเถียงกับตนเองถกเถียงกับตำราหรือข้อเขียนต่างๆเป็นชีวิตที่สนุกสนานและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

เดาว่าผู้คนเขาคงเห็นประโยชน์เขาจึงยังให้การบ้านคนแก่อย่างผมทำเราก็ภูมิใจที่ชีวิตยังพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างในวัยสนธยาแต่ผมจะเตือนตัวเองและเตือนคนอื่นเสมอว่าอย่าเชื่อผมนักเพราะเวลานี้ผมอยู่ในฐานะ “ผู้ไม่รู้จริง” เพราะไม่ได้ลงมือทำเรื่องอะไรก็ตามหากไม่ได้ลงมือทำเองผมถือว่าไม่รู้จริงคือไม่มี tacit knowledge

คนที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้เพราะเห็นหัวเรื่องแล้วคึกคัก คิดว่าผมจะเล่าเรื่องโป๊ เสียใจด้วยนะครับ

วิจารณ์  พานิช

๗  ม.ค. ๕๖


 

 

ผมก็อยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยเช่นกัน ( 63 ปี )  เพียงแต่ยังน้อยกว่าอาจารย์ เมื่อ 3 ปีก่อน ผมเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัททำงานเหมือนเป็นเจ้าของบริษัทเอง มีเงินเดือนประจำ พอมีเวลาก็ศึกษาเรียนรู้โดยเข้ารับฟังสัมมนา และประชุม เรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทบ้าง และเป็นเรื่องของสังคมบ้าง ก็เคยมีเจ้าของบริษัทที่เป็นพี่สาวของเจ้านายโดยตรง โทรศัพท์ตามผมทุกวันว่าผมอยู่ที่ไหน เมื่อแจ้งว่าอยู่ในที่ประชุม ก็จะถามว่า ประชุมเรื่องอะไร เมื่อตอบไป ก็บอกว่าประชุมนั้นไม่เห็นเกี่ยวกับบริษัทเลย  ผมทำงานบริหารให้บริษัทนี้มามากกว่า 14 ปี ทำงานทุกวัน โรงแรมที่ผมบริหารงานอยู่ต่างจังหวัด แต่ผมอยู่ที่กรุงเทพ นานๆจะลงไปที่โรงแรมสักครั้ง แต่ผมควบคุมการบริหารงานด้านการตลาดทั้งหมด รวมถึงดูแลการทำงานของลูกน้องที่อยู่ในโรงแรมด้วย ผมบริหารงานโดยใช้ IT เป็นเครื่องมือ  การรายงานและติดต่องานทั้งภายในและภายนอกใช้ e-mail เป็นเครื่องมือ e-mail ทุกฉบับที่ใช้ในงานของโรงแรม จะต้องสำเนาถึงผม ผมต้องอ่าน e-mail วันละเป็นร้อยๆฉบับ  บริหารงานและสั่งงานทาง e-mail โดยเฉพาะ e-mail จากลูกค้า ถ้าเป็นเรื่องปกติ ผมก็จะให้ลูกน้องตอบแต่ต้องสำเนาให้ผมรับทราบ แต่ถ้าลูกน้องตอบช้า ผมก็อาจจะตอบเองหรือจี้ให้ลูกน้องตอบ

เมื่อผมอายุครบ 60 ปี จึงเริ่มเบื่อกับการไม่ให้เกียรติ ของเจ้าของบางคน ประกอบกับ มีสามีของคนที่ผมรู้จักมาชวนผมไปช่วยบริหารงานให้เขา ตกลงกันอย่างดี แต่พอผมไปทำงานด้วย ก็ไม่รักษาคำพูดและ พอถึงสิ้นเดือนก็ไม่จ่ายเงินเดือนให้ผม จนต้องทวงถาม พอเดือนที่สองผมจึงขอให้สิ้นสุดกัน และให้จ่ายเงินเดือนที่ติดค้างผมอยู่จำนวนสองเดือน เขาก็ยอมจ่ายโดยดี ทำให้ผมขาดรายได้ประจำ โดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน แต่มีรายจ่ายประจำ

ตลอด 3 ปีที่ผมลาออกและไม่สนใจที่จะรับบริหารงานให้ใครอีก เนื่องจากประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเจ้านายล่าสุดสองราย เจ้านายรายแรกผมทำกำไรให้เขามาตลอด ทำงานยิ่งกว่าเจ้าของ สามารถขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้องทุกปี แต่ลืมขอขึ้นเงินเดือนตัวเอง ทำงาน 10 ปี โดยไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเลย ผมก็ไม่ทันคิดเพราะสนกกับงาน วันที่ผมลาออก นอกจากเงินเดือนแล้วก็ได้รับแบบฟอร์มการโอนหุ้นเพื่อให้ผมเซ็นต์โอนหุ้นลอยไว้ โดยไม่มีการให้เงินค่าหุ้นแม้นแต่บาทเดียว  (ระหว่างที่ผมทำงานกับเขา เขาแจ้งว่าผมมีหุ้น แต่ไม่เคยทราบเลยว่ามีหุ้นเท่าไหร่ ได้แต่เซ็นต์เอกสารแต่ไม่ให้โอกาสได้อ่านรายละเอียด ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากหุ้นแม้นแต่บาทเดียว เป็นกรรมการโดยไม่มีเงินค่ากรรมการ )

จากประสบการณ์ของนายจ้างทั้งสอง ผมจึงตัดสินใจไม่เป็นลูกจ้างใครอีกแล้ว จึงหันมาทำงานอิสระ เป็นวิทยากร และเป็นที่ปรึกษา ครั้งแรกคิดว่าง่ายๆ ความรู้และประสบการณ์รวมทั้งผลงานมีมาก  คิดว่าถ้าผมรับงานเป็นที่ปรึกษาให้โรงแรม สัก 3 โรงแรมๆละ 20,000 บาท ผมก็อยู่อย่างสบายแล้ว แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น สองปีแรกไม่มีใครมาจ้าง มีแต่มาปรึกษาโดยไม่มีค่าตอบแทนให้ เป็นวิทยากร ก็ฟรีบ้าง ได้เงินบ้าง ไม่กล้าไปเรียกร้องจากใคร สรุปแล้วใน 2 ปีแรก มีรายได้ถั่วเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท ไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน ก็ต้องนำเงินเก่าที่มีอยู่ไม่มากนักมาใช้ จะขายที่ทางที่พอมีบ้างก็ขายไม่ได้

เชื่อไหมครับช่วงที่ทำงานอิสระมีงานหนักกว่าเดิม ต้องทำการบ้านมากกว่าเดิม เพราะงานบริหารเดิมผมมีประสบการณ์ มองเห็นทุกอย่างและมีลูกน้องช่วยเหลือ แต่พอมาทำงานอิสระ ต้องทำงานเพียงคนเดียวทำทุกอย่าง เหมือนกับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ที่อาจารย์แจ้งว่า ใช้เวลาเตรียมเอกสารการบรรยาย 3 ชั่วโมง หรือบางครั้ง 20 ชั่วโมง แต่สำหรับผมยิ่งแล้วใหญ่ ต้องใช้เวลาอย่างต่ำๆ หนึ่งวัน หรือบางครั้ง สามวัน สำหรับการไปบรรยาย หรือร่วมในเวทีสัมมนา 1-3 ชั่วโมง แถมบรรยายฟรี ค่ารถก็ไม่มี บางแห่งมีค่าตอบแทนให้แต่ก็ไม่มากนัก นานๆจะได้ค่าบรรยายดีๆสักครั้ง ปีที่แล้วไปรับเป็นที่ปรึกษา 1 ราย และได้งานวิจัยมางานหนึ่ง ก็ทำให้มีรายได้มากกว่า 2 ปีก่อน แต่ก็ยังห่างไกลกับรายได้เก่าที่ได้เป็นประจำทุกเดือนมาก

พออาจารย์กล่าวถึงการบ้าน จึงอยากจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอาจารย์ ว่า การบ้านของอาจารย์สบายกว่าผมเยาะครับ ผมมาจากนักปฎิบัติ แต่มากลับลำเป็นนักวิชาการ เมื่ออายุมากแล้ว แถมไม่มีกระดาษ มาเป็นการันตี ความสามารถของตัวเอง  ผมเลือกงานและเลือกนาย  ให้คำปรึกษาหรือแนะนำใครก็แนะนำตรงๆ เอาความจริงมาบอก ไม่เหมือนที่ปรึกษาบางคนที่แค่คอยตามใจนายจ้าง หาความผิดจากคนอื่นและรายงานเพื่อความชอบของตัวเอง

ผมต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆมากกว่าเดิม แต่โชคดีที่ผมเป็นนักปฎิบัติมาตลอดชีวิต จึงมีประสบการณ์มากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม สำหรับทฤษฎี ผมก็เรียนรู้ศึกษาเช่นกัน แต่เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้เพื่อนำมาใช้ในงาน ไม่ได้เรียนเพื่อเอากระดาษ ความจริงผมก็มีกระดาษมากเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเอาใจใส่และนำมาเป็นหลักฐานแสดงตัว อาจารย์ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องหาเงิน เพราะเชื่อว่ามีรายได้ประจำอยู่ แต่ผมไม่มีรายได้ประจำก็เหมือนกับคนหาเช้ากินค่ำ การที่ผมมาอยู่ในฐานะนี้ทำให้เข้าใจถึงอีกหลายๆคนที่ลำบากกว่าผมในการหาเงินเพื่อมาเลี้ยงชีพและครอบครัว ผมจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่กับมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้ด้อยโอกาส

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖