ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๘๑. ไปชื่นชมพลังวิชาการเพื่อท้องถิ่น

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

วันที่ ๑๓ ก.พ. ๕๖ ผมไปร่วมงาน “การประชุมระดับชาติสังคมศาสตร์วิชาการครั้งที่ การวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น: พลังคนเพื่อพลังท้องถิ่น”  เพื่อไปร่วมอภิปรายเรื่อง“งานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ทำได้อย่างไร ทำแล้วเพื่อท้องถิ่นจริงหรือไม่ และมีความเป็นวิชาการอย่างไร”  โดยอภิปรายร่วมกับศ. ดร. อานันท์  กาญจนพันธ์  และนพ. วิชัย  โชควิวัฒน์  มี ศ. ดร. ปิยะวัติ  บุญ-หลง เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

เป็นการอภิปรายเพื่อตีความการบรรยายเรื่อง“วิจัยเพื่อท้องถิ่น: กรณีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก”โดยผศ. ดร. ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกของ มรภ. เชียงราย

เท่ากับมีการนำเสนอกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ ที่ถือว่าเป็นความสำเร็จสุดยอดคือจากงานวิจัยท้องถิ่นคือ เรื่องภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านสู่การเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี โท เอก  และตั้งสถาบัน  เอามาตีความว่าความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  และมีคุณค่าอย่างไรต่อสังคม

ที่จริงดร. ยิ่งยงท่านได้ตีความให้แล้ว  ว่าจะให้งานวิจัยท้องถิ่นส่งผลไปถึงขั้นรับใช้สังคมต้องการปัจจัยสำคัญ ๕ ประการคือ

 

 


 

 

๑.  ต้องมีความต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการ  และมีระยะเวลายาวนานพอที่จะสร้างผลกระทบแนวดิ่ง (โครงสร้างและนโยบายรัฐ)  และแนวราบ (เครือข่ายภาคีและชุมชน)

 

 

๒.  ต้องก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นรูปธรรมและสัมผัสได้ทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ  และคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม

 

 

๓.  เอื้อต่อการเรียนรู้และปรับตัวของผู้ร่วมวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง  จนมีผลต่อการปรับเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

 

 

๔.  องค์ความรู้ที่ได้ต้องได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน  และสามารถขยายผลเชิงระบาดได้โดยอัตโนมัติ

 

 

๕.  มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของชุดโครงการวิจัยเหมาะสมครบถ้วน  คือหัวหน้าโครงการ  แหล่งทุนสนับสนุนทีมวิจัย  การเคลื่อนงาน  และผู้ร่วมวิจัยทุกภาคส่วน  มีพฤติกรรมการดำเนินการเหมาะสมสอดคล้องกัน

 

 

 

ผู้สนใจอ่านบทความเรื่องจาก ... ชุดโครงการวิจัยพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านล้านนาและชนเผ่าสู่กระแสวิจัยรับใช้สังคม กรณีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านฯ ซึ่งคงต้องขอจากมรภ. เชียงรายเอาเอง  เพราะผมแนะให้เอาบทความนี้ขึ้นเว็บก็ไม่เห็นเอาขึ้น  หรืออ่านข่าวนี้ซึ่งไม่มีรายละเอียดเชิงวิชาการ

 

ผมสนใจคำพูดของดร. ยิ่งยงว่า ในการทำวิจัยชุดนี้ได้เกิดผล หรือข้อค้นพบที่คาดคิดไม่ถึงหรือไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริง  ถึง ๑๐ ประการ  ในเวลา ๑๐ ปี  ได้แก่

 

 


 

 

๑.  เกิดขบวนการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองในรอบ๗๕๐ปีของประวัติศาสตร์ล้านนา

 

 

๒.  เกิดกระบวนการวิจัยแบบมาราธอน“วิจัยไป - เสียชีวิตไป”

 

 

๓.  จากความรู้พื้นบ้านสู่ปริญญาตรี-โท - เอก

 

 

๔.  เกิดวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านฯสถาบันอุดมศึกษาการแพทย์แผนไทยที่เป็นหน่วยราชการระดับภาควิชา

 

 

๕.  จากวิถีชีวิตชุมชนสู่สปาพื้นบ้านล้านนา  สร้างเศรษฐกิจชาติ

 

 

๖.  จากหมอพื้นบ้านสู่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย

 

 

๗.  จากการแพทย์พื้นบ้านสู่สภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยภายในหนึ่งทศวรรษ  เป็นการปลดแอกหมอพื้นบ้านให้พ้นสภาพหมอเถื่อน

 

 

๘.  จากTM สู่การแพทย์ทางเลือกของWHO  และากICH สู่การขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของUNESCO

 

 

๙.  จากเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง(GMS – TM) สู่ASEAN

 

 

๑๐.  ฟื้นฟูบทบาทการรักษาอาการอาพาธของพระสงฆ์โดยหมอชีวกโกมารภัจจ์ผ่านศิษย์แพทย์แผนไทยในปัจจุบัน

 

 

 

อ่านรายละเอียดได้จากเอกสารฉบับเต็ม ได้จากบทความที่ต้องขอจาก มรภ. เชียงราย

ผมได้โอกาสบอกที่ประชุมว่า นักวิจัยที่เก่งจะมีความสามารถตรวจจับข้อค้นพบที่ไม่คาดคิดไว้ก่อนได้   ที่เรียกว่าการค้นพบโดยบังเอิญ (serendipity)   และทำให้ได้ผลงานวิจัยที่แปลกใหม่มีนวัตกรรม อย่างไม่คาดคิด   คุณหมอวิชัยจึงเติมตัวอย่างการค้นพบยาเพนนิซิลลินเป็นตัวอย่างของserendipity ในการวิจัย

ผมชี้ให้เห็นว่าหากไม่ใช่คนที่มีความรู้หลายศาสตร์อย่างดร. ยิ่งยง (ที่เรียนก่อนปริญญาตรีสาขาครู  ปริญญาตรีเคมี  โทโภชนาการ  และเอกมานุษยวิทยาการแพทย์) จะไม่สามารถตรวจจับผลวิจัยที่ไม่คาดคิดเอามาต่อยอดไปสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้  จึงขอแนะนำนักวิจัยรุ่นหลังให้กล้าเรียนและทำงานข้ามสาขาวิชาเดิมของตน

ผมอภิปรายตอบคำถามแรกว่า“งานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมชุมชนท้องถิ่นทำได้อย่างไร”  โดยเสนอว่าทำโดย (๑) ตั้งเป้า  ทำงานวิจัยที่มีความสำคัญสูง  กรณีนี้คือการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ  ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม  เพราะองค์การอนามัยโลกก็หันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้  (๒) มีการประมวลและประเมินองค์ความรู้เดิมที่เรียกว่าสังคายนา  เอามาใช้ต่อเฉพาะความรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล  โดยกระบวนการจัดการความรู้  คือนำความรู้ไปผ่านการใช้จริงยืนยันโดยผลที่ได้  และตีความโดยความรู้เชิงทฤษฎี  เป็นการจัดการความรู้ด้วยวงจรSECI ผ่านการหมุนเกลียวความรู้ระหว่างTacit Knowledge กับExplicit Knowledge ผ่านการนำไปใช้งานจริงหรือการปฏิบัติ  จุดสำคัญคือการมียุทธศาสตร์หรือท่าทีที่ถูกต้อง

ท่าทีที่ผิดคือ การนำเอาความรู้ท้องถิ่นไปรับใช้ความรู้สากล  แต่ ดร. ยิ่งยงใช้ท่าทีที่ถูกต้อง คือใช้ความรู้ท้องถิ่นที่เป็นความรู้ปฏิบัติเป็นฐาน  เอาความรู้สากล (ส่วนที่เหมาะสม) มาพิสูจน์หรือตีความความรู้ท้องถิ่น  ทำให้ได้ความรู้ที่หนักแน่นและแม่นยำขึ้น

(๓) เข้าสู่หลักสูตรการศึกษา  และการยกระดับคุณภาพและการยอมรับการแพทย์พื้นบ้านส่วนที่ผ่านการสังคายนา  และ (๔) เกิดการจัดตั้งสถาบันเป็นกลไกของความต่อเนื่องยั่งยืน

ต่อคำถามว่า“เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นหรือไม่”ไม่ต้องตอบเพราะเห็นประจักษ์อยู่แล้ว

ส่วนคำถามว่า“มีความเป็นวิชาการอย่างไร”  ตอบได้เป็น ๒ นัย  คือหากต้องการลากเข้า“ความเป็นวิชาการ” ที่ยอมรับให้เป็นผลงานวิชาการที่นำไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้  ตามเกณฑ์กพอ. (ซึ่งเป็นสมมติ)  ก็ต้องเขียนอธิบายความรู้ที่ได้จากโครงการตั้ง และตอบคำถามWhy และHow เพื่อเผยแพร่และต่อยอดความรู้ที่มีอยู่แล้ว  และผ่านกระบวนการpeer review ก็จะเป็นผลงานวิชาการ  ถ้าไม่ทำขั้นตอนนี้ก็จะได้ผลงานพัฒนาหรือผลงานสร้างสรรค์ยังไม่เป็นผลงานวิจัย

นัยที่ ๒ คือ  ผลงานนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน  พิสูจน์ด้วยคุณค่าในตัวของมันอยู่แล้ว  ในแง่คุณค่าที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องมี กพอ. มารับประกัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔  ก.พ. ๕๖