งานที่ดี

วันอังคารที่ 23 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

งานที่ดีนั้นแท้จริงคืองานที่เราทำแล้วมีความสุขต่างหาก จะเห็นได้ว่าถ้าเราได้ทำงานอย่างมีความสุข มีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม และชุมชนโดยรอบมีความสมานฉันท์ก็จะสร้างคำว่า "งานที่ดี" ให้เกิดขึ้นได้

 

การ ที่เราร่ำเรียนอย่างหนัก ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม เรื่อยไปถึงระดับอุดมศึกษา  ก็เพื่อที่จะได้งานดีๆมีความมั่นคง มีรากฐานของอนาคตที่แข็งแกร่งและสมบูรณ์        แต่ถ้าถามว่างานดีๆ คืออะไร หลายคนย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป บางคนว่า การได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆระดับโลกหรือระดับประเทศถือว่าเป็นงานดี บางคนก็บอกว่าการได้รับเงินเดือนเยอะๆต่างหากล่ะ คืองานดี แต่พอหันไปถามอีกคนก็บอกว่าการได้ทำงานในองค์กรภาครัฐ หรือการได้รับราชการ ที่มีความมั่นคงสูงต่างหากคืองานดีที่สุด ซึ่งความคิดเหล่านี้คงบอกไม่ได้ว่าความคิดไหนผิดหรือความคิดไหนถูก เพราะแต่ละคนต่างมองจากมุมของตน

แต่ถ้าให้ทุกคนมองกันใหม่ในมุมเดิม แล้วลองเติมความคิดเพิ่มขึ้นไปอีกนิดว่าถ้าเราทำงานในบริษัทใหญ่ และมีเงินเดือนเยอะ หรืออาจทำงานในหน่วยงานภาครัฐที่มีความมั่นคงสูง แต่กลับไม่มีความสุขเสียเลย เช้าตื่นขึ้นมาด้วยความเบื่อหน่ายท้อแท้ เห็นโลกทั้งโลกเป็นสีเทาไปหมด ในระหว่างทำงานก็รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง นับรอเวลาพักเที่ยง เที่ยงรีบทานข้าวแล้วนั่งถอนหายใจ พอบ่ายหน่อยก็เริ่มคิดถึงหมอน ตกเย็นก็เฝ้ามองนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะเลิกงานเสียที  เสาร์ อาทิตย์ หยุดพักผ่อน แต่พอเริ่มต้นสัปดาห์อีกครั้งในวันจันทร์ก็รู้สึกว่าพลังที่มีอยู่มากมายใน ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ถูกดูดมลายหายสิ้นเหลื่อไว้แต่ความน่าเบื่อหน่าย อารมณ์มาทำงานเหมือนโดนบังคับให้ออกรบทัพจับศึกฉันใดก็ฉันนั้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้บอกว่าบริษัทใหญ่ๆที่ให้เงินเดือนเยอะๆหรืองานราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นงานที่ไม่ดี แต่ที่กำลังจะบอกและเป็นสาระสำคัญก็คือ งานที่ดีนั้นแท้จริงคืองานที่เราทำแล้วมีความสุขต่างหาก จะเห็นได้ว่าถ้าเราได้ทำงานอย่างมีความสุข มีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม และชุมชนโดยรอบมีความสมานฉันท์ก็จะสร้างคำว่า "งานที่ดี" ให้เกิดขึ้นได้ แม้องค์กรที่เราอยู่นั้นจะไม่ได้ให้เงินเยอะ หรือองค์กรเองก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนองค์กรอื่นๆ

ต้นไม้จะเติบโต แผ่กิ่งก้านร่มเงาและให้ผลผลิตที่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธ์ที่นำมาปลูกด้วยครึ่งหนึ่ง ส่วนครึ่งที่เหลือคือการดูแลเอาใจใส่ให้น้ำให้ปุ๋ย ถึงจะทำให้ต้นไม้นั้นเติบโตแข็งแรงงอกงามได้

เช่นเดียวกัน การจะสร้างองค์กรให้มีความสุขนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น CEO หรือ HR เองต้องเตรียมเมล็ดพันธ์แห่งความสุขมาหว่านลงในหัวใจของคนในองค์กรเสียก่อน และหน้าที่ต่อไปก็คือการประคับประคองดูแล และใช้น้ำจิตน้ำใจหล่อเลี้ยงหัวใจของกันและกันอย่างสมดุล ทั้งในส่วนองค์กรและคนทำงานจึงจะทำให้องค์กรเกิดความสุขขึ้นมา

เรียบเรียงจากข้อมูลในหนังสือ "เมล็ดพันธ์แห่งความสุข" โดย ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะองค์กร

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

23 กรกฎาคม 2556