เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๘. หุ้นส่วนนวัตกรรม

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เพื่อบรรลุประเทศไทย ๔.๐ ตัวขับเคลื่อนสำคัญ ๓ ตัวคือ  การริเริ่มสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และบูรณาการ    มหาวิทยาลัย ๔.๐ จึงต้องพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานสร้างสรรค์    โดยต้องเปลี่ยน mindset จากการทำงานนี้ด้วยตนเองแบบแยกส่วน เป็นร่วมมือกับผู้อื่น หรือภาคส่วนอื่น    คือต้องทำงานนวัตกรรมร่วมกับหุ้นส่วนนั่นเอง    โดยจุดเน้นของเป้าหมายนวัตกรรมคือการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และกลไกการจัดการในภาคส่วนต่างๆ เน้นที่ภาครัฐ 

ในการไปร่วมประชุมและดูงานครั้งนี้ไม่มีหัวข้อ engagement for innovation เลย    ดังนั้นบันทึกในหัวข้อนี้จึงได้จากการสังเกตและตีความของผมทั้งสิ้น 

มีหลักการที่ผมเรียนรู้จากหลายแหล่งว่า หากต้องการให้เกิดนวัตกรรม ต้องส่งเสริม “กิจกรรมข้ามแดน” คือให้มีการออกไปนอกความเคยชินเดิมๆ   ออกไปเผชิญความแตกต่างหรือความแปลกใหม่ของ “ดินแดนอื่น” วงการอื่น  หรือหลักการอื่น    กิจกรรม PE จึงน่าจะเป็น “ปุ๋ยอันโอชะ” สำหรับ “ต้นไม้นวัตกรรม”

 

นวัตกรรมในการวิจัย

นวัตกรรมอันแรกที่ผมจับได้มาจากหลักการ co-creation    และพบที่ UCL ดังได้เล่าแล้วในตอนที่ ๔ คือเรื่อง co-production in health research   ที่เขาใช้ผู้ป่วยโรคจิตเป็น “หุ้นส่วน” ในการวิจัยโรคนั้น    เพื่อนำ “ข้อมูลมือหนึ่ง” (first-hand information) จากตัวผู้ป่วยเอง นำมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อพัฒนาบริการบำบัดรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น   ผมตีความว่า เป็นนวัตกรรมในระเบียบวิธีวิจัย (research methodology innovation) ที่นำเอาผู้รับผลจากงานวิจัยมาเป็นหุ้นส่วนของการวิจัยด้วย    หลักการนี้น่าจะนำไปสู่นวัตกรรมในการทำงานสร้างสรรค์อีกหลายด้าน  

 

นวัตกรรมจากการทำงานหุ้นส่วนสังคม

ที่จริงโครงการ PE ทั้งภาพใหญ่ ที่จัดการโดย NCCPE มีเป้าหมายสร้างนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัย    คือเคลื่อนไปเป็น engaged university (https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/manifesto_for_public_engagement_final_january_2010.pdf)   ในมุมมองนี้ มหาวิทยาลัยที่ผูกพันกับสังคมเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่   และเป็นนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่    มีการเรียนรู้และพัฒนาการต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด 

นวัตกรรมที่ผมสะดุดใจ มาจาก  Working Session : Museum-university partnerships : what have we learned?   โครงการ TORCH ของมหาวิทยาลัย Oxford ที่มีวิธีที่แยบยลในการ engage นักวิชาการสายมนุษยศาสตร์เข้ากับสังคม    รายละเอียดจะแยกไปเล่าในตอนที่ ๑๐

 

นวัตกรรมในการทำงานร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน

นวัตกรรมจากการเป็นหุ้นส่วนกับภาคธุรกิจเอกชน เป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยทั่วไปและเห็นภาพเป็นรูปธรรมที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรม    แต่มักเป็นหุ้นส่วนภาคธุรกิจขนาดใหญ่   สำหรับประเทศไทยส่วนที่น่าสนใจคือหุ้นส่วนกับ SME   ซึ่งประชาคมยุโรปมี EU Framework Programme for Research and Innovation ที่เรียกว่า Horizon 2020     ระบุ Innovation in SMEs ที่ https://ec.europa.eu/programmes/horizon2020/en/h2020-section/innovation-smes    

 

นวัตกรรมทางสังคม  

HEFCE ได้เผยแพร่ บล็อก เรื่อง How higher education can support social innovation (http://blog.hefce.ac.uk/2016/03/03/how-higher-education-can-support-social-innovation/)    เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๙  ประกาศให้ทุน Social Innovation ๖ โครงการเป็นเงินรวม ๙๘,๐๐๐ ปอนด์     ต่อเนื่องจากกิจกรรม Social Innovation Sandpit  http://www.hefce.ac.uk/news/newsarchive/2016/Name,107622,en.html      จะเห็นว่า เขาใช้เงินไม่มากดึงดูดให้มหาวิทยาลัยรวมตัวกันทำงานสร้างนวัตกรรมทางสังคม 

 

นวัตกรรมในการใช้นักศึกษาเป็นภาคีพัฒนาพื้นที่

เรื่องนี้เล่าไว้แล้วในตอนที่ ๕ เรื่อง Student capital : the power of student engagement https://www.bristol2015.co.uk/media/filer_public/6f/d3/6fd3fa25-0041-4c9e-a3dd-ed2b55f07073/bristol_method_student_capital_module_finalml.pdf    ซึ่งผมตีความว่าเป็นทั้งนวัตกรรมของบทบาทนักศึกษาต่อการพัฒนาพื้นที่  และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้     

 

นวัตกรรมด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลง

นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ นวัตกรรมด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) ต่อสถาบันอุดมศึกษา ที่สหราชอาณาจักรดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ   และเมื่อศึกษาในเว็บไซต์ก็พบว่าประชาคมยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ก็ดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน    เพื่อ transform อุดมศึกษา ให้มี mindset, วิธีการ, และวัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคม (public engagement)  

มองจากมุมของไทย นวัตกรรมที่ผลเห็นคือยุทธศาสตร์จัดการการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก  ใช้พลังของความรู้, การริเริ่มสร้างสรรค์, การเรียนรู้, ข้อมูล, และกระบวนการเครือข่าย ในการขับเคลื่อน

ที่ผมติดใจมากคือ การสร้าง platform และ framework ของระบบภาพใหญ่    เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ภาคีมองเห็นภาพใหญ่ ให้รู้ว่าเป้าหมายเชิงอุดมการณ์คืออะไร  เป้าหมายเชิงรูปธรรมคืออะไรบ้าง  ยุทธศาสตร์ของการบรรลุเป้าหมายคืออะไรบ้าง    และกิจกรรมเพื่อการบรรลุเป้าหมายมีอะไรบ้าง    ตนเองอยู่ตรงไหน มีระดับของการเชื่อมโยงหุ้นส่วนอยู่ในระดับไหน    เพื่อจะได้หาทางพัฒนาตนเอง    โดยตัวช่วยสำคัญคือกรณีตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรในเครือข่าย  และข้อมูลจากการประเมินการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่เป็นระยะๆ   รายละเอียดของ framework อยู่ในตอนที่ ๕

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๖๐

ห้อง ๓  ที่พักบ้านสวนครูกบ  ต. นาหินลาด  อ. ปากพลี  จ. นครนายก



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 15:32 น.