ทุจริตในการวิจัย ป้องกันดีกว่าแก้ ตัวอย่างจากญี่ปุ่น

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ข่าวเรื่อง Dr. Haruko Obakata ดาวรุ่งด้านวิจัยชีววิทยาพัฒนาการ (developmental biology) และการแพทย์บูรณาการ (regenerative medicine) อายุ ๓๑ ปี ถูกกล่าวหาว่าสร้างข้อมูลปลอมขึ้นมา ประกอบผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โด่งดังไปทั่วโลก ดังข่าวนี้ และข่าวนี้ ท่านที่สนใจจริงๆ อ่านเรื่องราวของการตรวจสอบผลงานใน PubPeer ได้ที่นี่ และ ที่นี่ จะเห็นว่า พลังของการตรวจสอบผลงาน ในยุค ไอซีที เข้มข้นมาก

เรื่องแบบนี้ เจ็บปวดกันทั่วหน้า ผู้เจ็บปวดที่สุดคือตัว Haruko Obakata เอง ที่เสื่อมเสียชื่อเสียง หล่นวูบจากสภาพดาราหรือเทพธิดา ซึ่งเพิ่งโด่งดังเมื่อ ๓ เดือนก่อนเท่านั้น มาเป็นจำเลยของการทำผิด จริยธรรมในการวิจัย ต้องขอถอนรายงานผลการวิจัยในวารสาร Nature ทั้งสองรายงาน เท่ากับยอมรับการทำผิดของตน ตามผลของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และจะต้องถูกลงโทษ

สถาบันวิจัย Riken ต้นสังกัด ก็เจ็บปวด พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย และโดนบทความใน New York Times วิพากษ์วิจารณ์แถมทั้งเรื่อง gender issue ของนักวิจัย เรื่องนโยบายกดดันให้นักวิจัยตีพิมพ์เพื่อ impact factor มากกว่าการทำวิจัยเพื่อ “good science” การไม่มีข้อกำหนดวิธีปฏิบัติให้นักวิจัยต้องบันทึกการทำงาน ในห้องปฏิบัติการไว้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้

สื่อมวลชนญี่ปุ่นก็โดนตำหนิไปด้วย ที่เมื่อมีผลงานวิจัยของ Obakata ตีพิมพ์ ในลักษณะผลการค้นพบ ที่ก้าวกระโดด (คือพบวิธีสร้าง pluripotent stem cells โดยการใส่ความเครียด เช่น ท็อกซินของแบคทีเรีย, กรดอ่อนๆ) ก็ประโคมข่าวใหญ่โตเกินพอดี เพื่อขายข่าว และเมื่อ Obakata เพลี่ยงพล้ำ ก็ประโคมขายข่าวอีก

สถาบันวิจัยชั้นยอดของไทย ถึงคราวต้องกำหนดให้นักวิจัยต้องบันทึก Reserch Log Book ให้ตรวจสอบได้ ว่าทำวิจัยจริง และได้ผลดังในรายงานจริง


เพิ่มเติมวันที่ ๑๐ ก.ค.

ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผมพบคนที่มีความรู้เรื่อง stem cells สองคน คนแรกคือ ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง ซึ่งไปรับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในเด็ก จึงถามขอความรู้เรื่องนี้จากท่าน ท่านบอกว่าปัญหาอยู่ที่เมื่อตีพิมพ์แล้วคนอื่น ทดลองแบบเดียวกันบ้าง ทำไม่สำเร็จ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า not reproducible

อีกท่านหนึ่งคือ ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ท่านก็ให้ความเห็น เหมือนกัน ว่าปัญหาอยู่ที่ irreproducibility ทำให้ผมคิดว่า หากผมเป็น Dr. Haruko Obakata และไม่ได้ทำผิด จริยธรรมในการวิจัย ผมก็จะทำการทดลองใหม่ ให้พยานที่เป็นคนนอกมาเป็นพยานว่าทำได้จริงๆ ไม่เห็นจะต้องตีโพยตีพายร้องไห้ รวมทั้งผมจะไม่ถอนรายงานใน Nature ทั้งสองบทความ

คือการโดนกล่าวหา จะยิ่งทำให้ Dr. Haruko Obakata (หรือผู้ไม่ได้ทำผิด) ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ได้ยืนยันการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของตนเอง ว่าค้นพบจริง


เพิ่มเติม ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

ข่าวนี้ บอกว่า ศาสตราจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องฆ่าตัวตาย

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๕๗ ปรับปรุง ๑๐ ก.ค. ๕๗ และ ๘ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 10:13 น.