การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : Transformative Learning ณ โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา.

วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา” สอนผมว่า การเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไม่สามารถเกิดได้ ในบรรยากาศการเรียนที่มุ่งเรียนวิชาเท่านั้น ยิ่งเกิดไม่ได้ในสภาพ “เรียนเพื่อสอบ” “สอนเพื่อสอบ” (teach to test) เพื่อยกระดับคะแนน O-NET อย่างที่ผู้บริหารการศึกษาไทยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมี “พื้นที่เรียนรู้” แบบใหม่ ให้ผู้เรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริง เรียนจากความซับซ้อน ไม่แน่นอน และที่สำคัญที่สุด เรียนจากผัสสะของตนเอง จากการปฏิบัติของตน นำมาสะท้อนคิดตีความเป็นหลักการ ขึ้นภายในใจของตน แล้วนำกลับไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง หมุนเป็นวงจรของการเรียนรู้จากการ ลงมือปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด

ในสายตาของผม นี่คือปรากฏการณ์ “การผุดบังเกิด” (emergence) ที่มาจากการได้มีโอกาสทำสิ่งที่ ไม่น่าจะทำได้สำเร็จ จนเกิดผลที่ไม่คาดคิด

ผลที่ไม่คาดคิดคือ เหล่านักเรียนชั้น ม. ๔/๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เกิด Transformative Learning เรียนโดยการปฏิบัติ (ทำนา) แล้วสะท้อนคิดด้วยการบันทึกไดอารี่ส่วนตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด และโลกทัศน์ต่อสิ่งรอบตัว เปลี่ยนจาก “ดักแด้” ที่มองโลกในกรอบการเรียนวิชา เป็น “ผีเสื้อ” ที่มองโลกกว้าง

ผลยิ่งใหญ่ขนาดนี้ไม่เกิด หรือเกิดไม่ได้ หากการทำนาราบรื่น หากไม่เกิดความขัดแย้งอึดอัดขัดข้อง ในหมู่นักเรียน ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง ห่วงแต่ผลการเรียนของตนเอง ตามที่นำเสนอในละครเพลง เรื่อง ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา ที่ผมไปชมในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยที่เราต้องนั่งรถขึ้นเขาไปจากตัวจังหวัดเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงเต็ม ดูวีดิทัศน์ การทำนาของ นักเรียนกลุ่มนี้ได้ที่  โปรดดูรูปละครเพลงที่ภาพประกอบบันทึกนี้

ผมขอคัดข้อความจาก PowerPoint ของ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการโครงการ เพาะพันธุ์ปัญญา ที่ฉายประกอบการชมละครเพลงนี้

“ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา เป็นการแสดงกึ่งละครเพลง ที่ถอดออกมาจาก diary บันทึกเหตุการณ์ ที่ครูและนักเรียนบอกเล่าการทำงานของตนเอง เพื่อเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในการทำโครงงานเพื่อเรียนรู้ และ พัฒนาตนเองตามแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญา

จากนักเรียนห้องเรียนเก่ง ที่มีความเชื่อมั่นตนเองสูง สนใจแต่การเรียนในห้อง ยิ่งมุ่งมั่นในการเรียนมาก และรับรู้โลกภายนอกผ่าน ICT เท่านั้น จึงขาดโอกาสพัฒนาทักษะ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ความเชื่อเดิมเรื่อง วิถีการเรียนค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อครูนำนักเรียนออก เรียนรู้จากการทำนาในสถานที่จริง จากความแปลกและสนุกมาสู่การหักร้างถางพง สร้างนาของตนเองในโรงเรียน

ท่ามกลางการทำงานที่เผชิญปัญหาทั้งงานหนักเกินคำว่า ‘สนุก’ และความบีบคั้น จากการเรียนปกติ ได้สร้างความขัดแย้งทางความคิด แต่เพราะมีครูและปราชญ์ชาวบ้าน ที่คอยสร้างแรงบันดาลใจ สงครามระหว่าง ความท้อ ความรับผิดชอบ และความมุมานะ ต่อสู้กันทั้งภายในแต่ละคนและในกลุ่ม ความทุกข์ ความเศร้า ความลิงโลด ความฮึกเหิม ที่สลับกันผ่านเข้ามาในช่วงเวลา ๕ เดือนของการทำงาน ได้หล่อหลอมครูและนักเรียน ทั้งห้องให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี ความเคารพกัน ที่พัฒนา มาเป็นทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และทักษะในการจัดการการเรียนรู้ แบบเพาะพันธุ์ปัญญา”

“ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา” สอนผมว่า การเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไม่สามารถเกิดได้ ในบรรยากาศการเรียนที่มุ่งเรียนวิชาเท่านั้น ยิ่งเกิดไม่ได้ในสภาพ “เรียนเพื่อสอบ” “สอนเพื่อสอบ” (teach to test) เพื่อยกระดับคะแนน O-NET อย่างที่ผู้บริหารการศึกษาไทยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมี “พื้นที่เรียนรู้” แบบใหม่ ให้ผู้เรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริง เรียนจากความซับซ้อน ไม่แน่นอน และที่สำคัญที่สุด เรียนจากผัสสะของตนเอง จากการปฏิบัติของตน นำมาสะท้อนคิดตีความเป็นหลักการ ขึ้นภายในใจของตน แล้วนำกลับไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง หมุนเป็นวงจรของการเรียนรู้จากการ ลงมือปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด

ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา นำไปสู่ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เปลี่ยนความคิดความเชื่อ ทั้งของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ปกครอง ดังที่เราไปสัมผัส ที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยาเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘

ผมขอเสนอว่า “ทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญา” น่าจะพัฒนาการยกระดับขึ้นไปอีก ต่อยอด “ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา” โดยเครื่องมือต่อยอดอย่างหนึ่งคือ การไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เพื่อโยงเหตุการณ์จริง เข้าสู่การเรียนวิชา หรือการเรียนรู้ทฤษฎี เพื่อตอบคำถาม Why

ที่จริง นักเรียนชั้น ม. 4/1 ในปีการศึกษาที่แล้วได้ทำอย่างที่ผมเสนออยู่แล้ว โดยการทำโครงงานย่อย รวม ๑๐ โครงงาน แต่ผมคิดว่า ยังมีโอกาสใช้การเขียนไดอารี่ส่วนตัวให้เกิดการไตร่ตรองสะท้อนคิด ประเด็นเล็กๆ ที่ตนสัมผัส เชื่อมกับวิชาที่เรียน

วิธีการทำได้มากมายหลากหลาย โดยวิธีการหนึ่งคือบอกนักเรียนว่า การเขียนไดอารี่ส่วนตัวเขียนได้ ๒ แบบ วันไหนจะเลือกเขียนแบบไหนก็ได้ แบบแรกก็คือแบบที่ครูตรีนุชแนะให้ศิษย์เขียน จน ดร. สุธีระจับ emergence ของ transformation ในกลุ่มนักเรียน ได้ แบบที่ ๒ คือเลือกเขียนตอบคำถามใดคำถามหนึ่งใน ๑๐ คำถามที่ครูทำเรายการคำถามให้ โดยที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามโยงสู่วิชาที่เรียน ว่าเอาหลักวิชามาอธิบาย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร นักเรียนอาจต้องค้นคว้าหาคำอธิบาย หรือนักเรียนจะตั้งคำถามเอง เพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง หรือจับกลุ่มกันค้นคว้าเองก็ได้

ทั้งหมดนั้น ต้องไม่เป็นภาระหรือทำให้นักเรียนเครียด ต้องสร้างบรรยากาศความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ให้ถูกใจวัยรุ่น

ผมขอแสดงความยินดี และชื่นชมทีมงานของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ชื่นชมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา และ ดร. สุธีระ ที่มีพลังในการทำงานชิ้นนี้ ผมเชื่อว่ามีวิธีการเรียนรู้ที่ทรงพลังอีกมากมาย รอการค้นพบ ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ในมิติที่ซับซ้อน ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

คาถาที่ขอให้ไว้คือ จงทำจริง อย่าทำหลอกๆ จงทำเพื่อเรียนรู้ อย่าทำเพื่ออวด

 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/593137

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 23:04 น.