ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๒๗. สนุกกับความไม่รู้

วันอังคารที่ 05 มกราคม 2016 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๒๗. สนุกกับความไม่รู้

ไม่ใช่สนุกเฉยๆ นะครับ เป็นความท้าทายสุดๆ ทีเดียว ในการทำงานเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่รู้ ที่ไม่มีทางรู้ได้เลย   โดยผมมั่นใจว่าผมจะตายไปกับความไม่รู้นี้

สิ่งที่ไม่รู้นี้คือ ไม่รู้ว่าโลกในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร   สังคมไทยในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วผมไม่เคยนึกว่าชีวิตตอนอายุหลังเกษียณ ในวัยใกล้ ๗๐ จะเป็นอย่างนี้   คนบ้าอ่านหนังสืออย่างผมไม่เคยนึกเลยว่าการอ่านหนังสือจะเปลี่ยนจากอ่านในกระดาษมาเป็นอ่านจากจอ   เปลี่ยนจากอ่านตัวพิมพ์เป็นอ่าน electronic bits

ผมนึกไม่ออกว่าใน ๒๐ ปีข้างหน้าลูกๆ ๔ คนของผมเขาจะอยู่กันอย่างไร แต่ก็ไม่ห่วง เพราะเขามีความแข็งแรงพอที่จะเผชิการเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนอย่างที่เขาเผชิญมาแล้วในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาร่วมกันกับผมและสาวน้อย

เช้าวันนี้ (๑๓ ส.ค. ๕๔) ครูเพื่อศิษย์ท่านหนึ่ง ส่ง อี-เมล์ มาเล่าว่า ตนกำลังเผชิญความท้าทายที่ศิษย์ชั้น ม. ๓ จำนวน ๑๒ คนขายตัว และในการมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช้ถุงยาง ยังดีที่พาไปตรวจเลือดไม่พบเชื้อ HIV

เรื่องจากครูท่านนี้สอนผมว่า แม้แต่เรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ วงการศึกษาไทยยังไม่สามารถจัดการให้นักเรียนเผชิญกับมันได้โดยชีวิตไม่ตกเป็นทาส   ไม่เดินทางอบาย

นี่คือตัวชี้วัดว่าการศึกษาไทยล้มเหลวในการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตให้แก่นักเรียน   เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเขาจึงใช้ชีวิตแบบที่ทำลายอนาคตของตนเอง

นี่คือความท้าทายต่อวงการศึกษาไทย

ขออธิบายความหมายของคำว่า “วงการศึกษาไทย”   ว่าไม่ได้หมายความเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ   แต่หมายถึงคนไทยทุกคน ที่เป็นพลเมืองที่เอาใจใส่สนใจสังคม (concerned citizen)   ตามหลักการ All for education

ทำอย่างไร เด็กและเยาวชนไทยจะได้เรียนรู้และสั่งสมทักษะชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดหรือก่อนเกิด  และเรียนรู้สั่งสมทั้งความรู้และทักษะสำหรับดำรงชีวิตที่ดีในอนาคตที่คาดเดาไม่ออก นี่คือโจทย์ที่ผมกำลังสนุก   สนุกกับความไม่รู้

ไม่รู้ว่าสังคมในอนาคตจะเป็นอย่างไร   ไม่รู้ว่าทำอย่างไร “การเรียนรู้” ทักษะชีวิต และทักษะอื่นๆ ที่มีระบุไว้ใน 21st Century Skills จึงจะเข้าไปในโรงเรียน และในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย

ความไม่รู้เหล่านี้ เป็นความท้าทายสำหรับผม   ที่จะศึกษาหาทางดำเนินการเพื่อเอาชนะความไม่รู้นั้นบางส่วน   ตามกำลังที่ตนเองสามารถดำเนินการได้   โดยผมมียุทธศาสตร์ “ทำแบบไม่ทำ”

ผมมีความเชื่อว่า หากการศึกษาไทยเดินถูกทาง   คือจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง 21st Century Learning ที่เรียนทั้งสาระวิชาควบคู่ไปกับทักษะสำคัญที่เรียกว่า 21st Century Skills   โดยจัดการเรียนรู้ที่เน้น PBL และครูรวมตัวกันเรียนรู้การทำหน้าที่ครูด้วย PLC ปัญหาสังคมมากมายหลายอย่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ จะบางเบาลงไปกว่าครึ่ง หรืออาจเหลือเพียง 10-20% เท่านั้น

ผมไม่รู้ว่าชีวิตของผู้คนทั่วไปใน ๒๐ ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง    แต่ผมแน่ใจว่า คนที่ฝึกฝนสั่งสมทักษะชีวิตไว้อย่างดีตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ และฝึกฝนต่อเนื่อง   จะสามารถเรียนรู้ต่อเนื่องและดำรงชีวิตที่มั่นคงมีความสุขได้   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาความเย้ายวนหลอกลวงหลอกล่อที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น

ถึงจะไม่รู้อนาคต เราก็ช่วยกันทำงานเพื่อชีวิตอนาคตที่ดีของคนไทยได้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ส.ค. ๕๔

 

คัดลอกจาก : https://www.gotoknow.org/posts/459114

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 มกราคม 2016 เวลา 22:02 น.