ชีวิตที่พอเพียง : 2843. สัมฤทธิศาสตร์

วันอังคารที่ 31 มกราคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

โลกยุคปัจจุบัน เป็นยุค วูค่า (VUCA = Volatile, Uncertain, Complex, Ambiguous) งานใหญ่ๆ มีความซับซ้อนและยาก โครงสร้างและกลไกการทำงานตามปกติมักจะไร้ผล เห็นชัดจากราชการไทย จึงเกิดศาสตร์ว่าด้วยวิธีทำงานยากๆ ให้บรรลุผล เรียกว่า Delivery Science, Deliverology, หรือ Implementation Science


หนังสือสองเล่ม Deliverology 101และ How to Run a Government : So That Citizen Benefit and Taxpayers Don’t Go Crazyทั้งสองเล่มเขียนโดย Michael Barber ผู้เป็นครูเก่า และเขียนจากประสบการณ์ไปทำงานให้รัฐบาลอังกฤษสมัยนายกรัฐมนตรี Tony Blair เพื่อหาทางทำให้นายกรัฐมนตรีส่งมอบผลงานตามที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงได้


หนังสืออีกเล่มหนึ่ง The Social Labs Revolution : A New Approach to Solving Our Most Complex Challenges หนุนการส่งมอบงานของฝ่ายประชาสังคม พูดง่ายๆ คือหาทางให้งานตามเป้าหมายบรรลุผล


รัฐบาลมาเลเซียก็เอา Delivery Science ไปใช้ มีเรื่องราวประสบการณ์เผยแพร่


ผมได้เรียนรู้เรื่องข้างบนในการประชุมสามพรานฟอรั่ม เช้าวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๐ โดยมี นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นวิทยากร และพาดพิง นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิก สปท. ว่าน่าจะเอาไปใช้เรื่องการปฏิรูปประเทศไทย และว่าเรื่องนี้สภาพัฒน์ฯ น่าจะเอาไปใช้ในการทำหน้าที่


ฟังแล้วผมสรุปกับตนเองว่า เป็นเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลง เป็นกลไกการผนึกกำลังหลายฝ่ายที่ทำงานแยกๆ กัน ร่วมกันโฟกัสเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และเป็นสิ่งที่มีหลายอวตาร อวตารหนึ่งเรียกว่า KM 4.0 ที่ สคส. กำลังเรียนรู้และหาทางให้สังคมไทยนำไปใช้


พอดีมีข่าว การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศซึ่งน่าจะใช้หลักการหน่วยสัมฤทธิศาสตร์ ในระดับประเทศ


ผมบอกตัวเองว่า ทางหลงของเรื่องนี้คือ (๑) ทำแบบครอบคลุม ซึ่งตรงกันข้ามกับทำแบบโฟกัส (๒) ภาคีร่วมคิดร่วมทำไม่ครบ หรือครบแต่ไม่เอาจริง ซึ่งแก้ได้ด้วยแนวทางใช้ Governance ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ enablers ตาม KM 4.0


ผมคิดต่อว่า ในบริบทของการทำงานโดยทั่วไป หลุมพรางสำคัญที่สุดที่จะทำให้สัมฤทธิศาสตร์ไม่ก่อผลสัมฤทธิ์ คือการเลือกลำดับความสำคัญผิด ซึ่งปัญหานี้ในทางการเมืองไม่เดือดร้อน เพราะเขามุ่งทำตามที่สัญญากับประชาชนไว้ก่อนเลือกตั้ง คือเขาเรียงลำดับความสำคัญไว้ล่วงหน้า หรืออาจบอกว่านั่นคือลำดับความสำคัญของประชาชน




วิจารณ์ พานิช

๑๓ ม.ค. ๖๐

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/622366

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 31 มกราคม 2017 เวลา 13:46 น.