มายาแห่งความรู้ นิยามใหม่ของความฉลาดและการศึกษา

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2019 เวลา 13:02 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์


 หนังสือ The Knowledge Illusionn : The Myth of Individual Thought and the Power of Collective Wisdom (2017)  เขียนโดย Steven Solomon & Philip Fernbach บอกว่าปัญญาไม่ใช่มีแค่มิติปัญญาของปัจเจกบุคคลเท่านั้น    แต่ปัญญาที่มีพลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าของมนุษย์ เป็น ปัญญารวมหมู่  

ผู้เขียนคือ Steven Solomon เป็นศาสตราจารย์ด้าน cognitive linguistics, Brown University   และเป็นบรรณาธิการของวารสาร Cognition    ส่วน Philip Fernbach เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาด มหาวิทยาลัย โคโลราโด้

เรามักจะได้รับการบอกเล่า ว่าการก้าวกระโดดของวิทยาการเกิดจากบุคคลที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านปัญญา เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ชาร์ลส ดาร์วิน เป็นต้น    ซึ่งเป็นความจริง   แต่เป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน    เบื้องหลังการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นั้นๆ ยังมี “ปัญญารวมหมู่”  อยู่เบื้องหลัง

มายาคติอย่างหนึ่งคือ คนเรามักคิดว่าตนรู้มากกว่าที่เป็นจริง    กล่าวใหม่ว่า คนเรารู้น้อยกว่าที่ตนเองคิดว่าตนรู้     มายานี้เรียกว่า IoED (Illusion of Explanatory Depth)    มีตัวอย่างง่ายๆ เรื่องความรู้ความเข้าใจว่ารถจักรยานทำงานอย่างไร    นักจิตวิทยาเอาร่างรูปรถจักรยานที่มีส่วนประกอบไม่ครบ    ให้ตัวอย่างผู้ถูกทดลองวาดเติมให้ครบ   พบว่าคนส่วนใหญ่เติมได้ไม่ครบชิ้นส่วนสำคัญ

     สมองมนุษย์ไม่ได้มีไว้ทำหน้าที่คลังความรู้    ฟังดูแปลก   มีคนหาวิธีคำนวณว่า หากสมองมนุษย์เป็นคล้ายคอมพิวเตอร์ชีวภาพ ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลความรู้    ใช้วิธีคำนวณหลายวิธี ผลออกมาตรงกันว่าสมองมีความจุเพียงประมาณ 1 gigabyte   เรื่องราวต่างๆ ในโลกมีมากมายและซับซ้อนเกินสมองมนุษย์จดจำ   

ถ้าเช่นนั้น สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อทำอะไร

คำตอบคือ สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาทำหน้าที่ปฏิบัติการ (action)    โดยมีลักษณะจำเพาะต่างจากสมองสัตว์อื่นที่การทำหน้าที่วินิจฉัยเหตุผล (diagnostic reasoning)   คือการคิดจากผลไปหาเหตุ    ซึ่งทำได้ยากกว่าการคิดจากเหตุไปหาผล   

การคิดเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกับความสามารถในการเล่าเรื่อง (storytelling) ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ ที่มนุษย์ใช้สร้างความหมายของสิ่งต่างๆ ในโลก    โดยเฉพาะความหมายของอดีต   และใช้สร้างความหมายของอนาคต    ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนิยายหรือเรื่องในจินตนาการ    นี่คือความสามารถพิเศษของมนุษย์    ที่ทำให้มนุษย์คิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นได้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์    และทำให้มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้

มนุษย์เราใช้เหตุผลสองแบบ คือแบบใช้ปัญญาญาณ (intuition)  กับแบบใช้การปรึกษาหารือใคร่ครวญอย่างรอบคอบ (deliberation)    การคิดแบบใช้ปัญญาญาณเป็นการคิดคนเดียว ใช้ปัญญาส่วนตน    แต่การคิดอย่างปรึกษาหารือใคร่ครวญเป็นการคิดแบบใช้ปัญญาของคนอื่นด้วย แม้จะใคร่ครวญไตร่ตรองคนเดียว เราก็คุยกับตัวเองคล้ายคุยกับคนอื่น    ซึ่งเป็นวิธีดึงเอาความคิดภายในออกไปภายนอกตัว เพื่อช่วยการคิด   

ซึ่งหมายความว่า มนุษย์เราคิดด้วยร่างกายและโลกรอบตัวด้วย  ไม่ใช่แค่ใช้สมอง     ตัวอย่างหนึ่งคือ embodiment  ซึ่งหมายถึงเราใช้การออกท่าทางช่วยการคิด    ดังกรณีเรานับจำนวนโดยนับนิ้ว    หรือสะกดคำโดยใช้กระดาษและดินสอช่วย     เราจดจำสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เคยชินไว้ ช่วยลดภาระการคิดลงไปได้มากมาย    เปรียบเสมือนเราใช้โลกหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวช่วยการคิด 

นอกจากนั้น เรายังใช้อารมณ์เป็นดั่งคลังความจำ    เราไม่ต้องคิดหลีกเลี่ยงเลยเมื่อเผชิญสิ่งอันตรายหรือน่าขยะแขยง   

มนุษย์เรามีความสามารถคิดร่วมกัน และร่วมมือกัน ตามทฤษฎี social brain hypothesis    การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ทำให้สมองวิวัฒน์สู่ความซับซ้อนมากขึ้น   ยิ่งทำให้สังคมมนุษย์ซับซ้อนขึ้น    กระตุ้นให้สมองยิ่งซับซ้อนขึ้น    เป็นวงจรสร้างความซับซ้อนของสมองและของสังคมมนุษย์    นำไปสู่การแบ่งงานกันทำ  แบ่งภาระการคิดกัน   ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะคนในชุมชนหรือสังคมเดียวกันมีเป้าหมายเดียวกัน    ลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือการแบ่งงานกันคิด  และการมีเป้าหมายร่วมกัน  นำไปสู่การบรรลุสิ่งที่มนุษย์ไม่น่าจะทำได้เช่นการประดิษฐ์สมาร์ทโฟน และการสำรวจอวกาศ    ลักษณะพิเศษสองประการของมนุษย์นี้ คอมพิวเตอร์ที่ฉลาดที่สุดไม่มี      

แต่มนุษย์ก็มีจุดอ่อนที่ group think   ซึ่งนักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ “พวกมากลากไป”    ดังกรณีประชาชนสนับสนุนฮิตเล่อร์  สตาลิน  และเหมาเจ๋อตง    และในกรณีฟองสบู่การเงินในประเทศไทยช่วงปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๐ (อันนี้ผมเติมเอง)  

นักการเมือง และคนบางจำพวกเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้าง group think    คนเราจึงต้องรู้เท่าทัน    โดยการฝึกทักษะการคิดเชิงเหตุ-ผล           

หนังสือเสนอให้นิยามความฉลาดเสียใหม่  จากการวัดไอคิว  เป็นการวัดความสามารถ และความถนัดในการทำงานร่วมกันเป็นทีม    และต้องจัดการศึกษาที่ฝึกความสามารถด้านความร่วมมือ    โดยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากการฟังการบรรยาย เป็นเรียนโดยการทำกิจกรรม   เน้นกิจกรรมที่ทำเป็นทีม    เพื่อฝึกทักษะการคิดร่วมกัน 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๖๑



แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2019 เวลา 13:02 น.