กัญชาถูกกฎหมาย

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ที่ผมเห็นด้วยกับการใช้กัญชานั้น เห็นด้วยอย่างจำกัด ใช้ในผู้ป่วยใกล้ตายหรือทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการใช้เพื่อเสพสภาพประสาทหลอน ผมมีความเห็นว่า คนเราควรแสวงความสุขที่มั่นคงยั่งยืน และไม่ต้องพึ่งพามากกว่าการพึ่งพายา ไม่ว่ายาชนิดใด

 

กัญชาถูกกฎหมาย

นสพ. บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๕ พ.ค. ๕๖ ลงบทความ เรื่อง It is now just a question of 'how' pot will be legalised เขียนโดย Bill Keller นักเขียนของ New York Times  ซึ่งเมื่อค้นด้วย Google ก็พบบทความเดียวกันในชื่อ How to legalize pot เป็นบทความที่เขียนดีมาก  บอกว่า ๒ รัฐที่มีกฎหมายให้ใช้กัญชาเพื่อ “การหย่อนใจ” (recreational drug) คือ โคโลราโด กับ วอชิงตัน  โดยจำกัดให้ใช้ได้ในคนที่อายุ ๒๑ ปีขึ้นไป

และมีอีก ๑๘ รัฐ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเป็นยาได้ (medical use)  โดยในประเทศเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้ใช้ เป็นการส่วนตัวได้ (personal use)

จะเห็นว่า ในปัจจุบัน มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างจำกัด (limited use)  เพราะมันมีทั้งประโยชน์และโทษ   ที่จริงเรื่องโทษนั้น บุหรี่ เหล้า และการพนันดูจะมีโทษมากกว่า

เขาบอกว่า ในรัฐที่ยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย  ไม่มีหลักฐานว่าวัยรุ่นมีการเสพกัญชาเพิ่มขึ้น   แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งใช้กฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย   ก็มีร้านขายกัญชาขึ้นทั่วทุกหัวระแหง ในนคร ลอส แอนเจลีส  มากกว่าร้าน สตาร์บัค

การออกกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย  ประเด็นที่ต้องคิดให้รอบคอบคือ บริษัทธุรกิจสิ่งเสพติด ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากคนที่เสพมากเกินพอดี (เสพติด)   และหากธุรกิจนั้นมีขนาดใหญ่ มีอิทธิพลมาก ก็จะมีพลังทางธุรกิจเพื่อทำกำไรจากการดึงดูดให้คนเข้าไปเสพติดจำนวนมาก  แบบเดียวกับบริษัทบุหรี่และเหล้า  บทความจึงบอกว่า น่าจะหาทางทำให้ธุรกิจกัญชาเป็นรายย่อยๆ แบบธุรกิจ ไวน์  ไม่มีการรวมกันเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แบบบุหรี่และเหล้า  จะกำกับควบคุมอย่างไร

จะกำกับควบคุมการโฆษณาอย่างไร  ห้ามวางจำหน่ายแบบห้ามบุหรี่ไหม  จะมีกฎหมายห้ามคนเมากัญชาขับรถ หรือยานพาหนะอื่นๆ อย่างไร  เราคงไม่อยากให้นักบินที่ขับเครื่องบินเสพกัญชาระหว่างทำหน้าที่

จะเห็นว่า แม้สังคมและกฎหมายจะยอมรับการเสพกัญชา  ก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกา เพื่อรับเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์  ป้องกันส่วนที่เป็นโทษ  ป้องกันการมอมเมาคนที่จิตใจอ่อนแอ

ที่ผมเห็นด้วยกับการใช้กัญชานั้น เห็นด้วยอย่างจำกัด  ใช้ในผู้ป่วยใกล้ตายหรือทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด  โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการใช้เพื่อเสพสภาพประสาทหลอน  ผมมีความเห็นว่า คนเราควรแสวงความสุขที่มั่นคงยั่งยืน และไม่ต้องพึ่งพามากกว่าการพึ่งพายา ไม่ว่ายาชนิดใด

ผมเห็นด้วยกับการปลูกไว้ใช้เอง ว่าควรอนุญาตให้ถูกกฎหมาย  โดยต้องหาทางสร้างความรู้ความเข้าใจคนในสังคม ให้รู้จักคุณและโทษของมัน

ผมเคยเขียบบันทึกเรื่องกัญชาไว้ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๕ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/537087