ฝึกศิษย์ให้เป็นคนที่ควบคุมตนเองได้

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ทักษะกำกับดูแลตนเองได้ (personal mastery) หรือวินัยในตน (self-discipline)  เป็นสุดยอดของทักษะทั้งปวง เป็นทักษะพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ชีวิตที่พอเพียง    การศึกษาต้องปูพื้นฐานทักษะนี้ให้แก่เด็กทุกคน   ย้ำว่า แก่เด็กทุกคน

และย้ำว่า เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ที่จะต้องรับผิดชอบปลูกฝังทักษะ หรือลักษณะนิสัยนี้ ให้แก่เด็กทุกคน    โดยผมเชื่อว่า ทำได้โดยวิธี สอนแบบไม่สอน

วิธีการที่แยบยลยิ่ง เล่าไว้ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

การที่เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น แล้วบางคนเสียคน จากการติดเน็ต  ติดเกม  ติดยาเสพติด มั่วเซ็กส์ ตั้งครรภ์ ฯลฯ นั้น    เป็นดัชนีบอกความล้มเหลวย่อหย่อนของการศึกษา    เป็นผลจากความล้มเหลวสะสมทีละน้อยๆ ในเรื่องการพัฒนาทักษะการกำกับดูแลตนเองของเด็ก    ครูทุกคนที่เคยสอนเด็กที่เสียคนตอนวัยรุ่น ควรได้ตระหนัก ว่าการเสียคนของเด็กคนนั้น ตนมีส่วนรับผิดชอบด้วย    และควรนำมาเป็นเครื่อง กระตุ้นเตือนตนเอง ให้แสวงหาวิธีวางพื้นฐานทักษะกำกับดูแลตนเอง ให้หนักแน่นกว่านี้

นี่คือการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แก่ศิษย์ ให้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยอบายมุข ได้โดยไม่เข้าไปเกลือกกลั้ว   ในสมัยโบราณ ปราชญ์สอนว่า ทางอบาย ๔ ได้แก่ เป็นนักเลงหญิง  เป็นนักเลงสุรา  เป็นนักการพนัน  และ คบคนชั่วเป็นมิตร   หรือบางที่เราพูดกันว่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร   คำสอนเหล่านี้ยังเป็นจริงในชีวิตสมัยใหม่   แต่มีทางเสื่อมอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย เช่นติดเกม  ติดเน็ต  บ้าสินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ   เพราะสังคมสมัยใหม่ ได้พัฒนาตัวล่อตัวลวง เพื่อแสวงประโยชน์จากวัยรุ่นมากมาย และนับวันจะเพิ่มขึ้นทั้งชนิดของตัวล่อลวง และทั้งความรุนแรงหรือความแยบยลของการลวง    จนคนทั้งสังคมไม่รู้สึกว่าถูกลวง

การฝึกศิษย์ให้รู้เท่าทันสิ่งลวงหลอกเหล่านี้ เพื่อให้ควบคุมกำกับตนเองได้ ไม่ให้ติดกับ หรือตกเป็นเหยื่อ จึงต้องเอาเรื่องราวของการตกเป็นเหยื่อมาเป็นกรณีศึกษา ที่เรียกว่า CBL (Case-Based Learning)   รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะเชิงซ้อนจากการทำงาน หรือทำโครงการชนิดต้องดำเนินการระยะยาว ตามแนวทางของครูเรฟ ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

อาจฝึกนักเรียน ด้วยวิธีกระตุ้น Executive function ในสมอง ด้วยวิธีการตาม บันทึกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๕๖

ระหว่างนั่งรถยนต์ไป อ. บ้านแหลม  จ. เพชรบุรี

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 07:44 น.