ชีวิตที่พอเพียง : 1425. ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
ชีวิตของครูเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตของคนมีบุญ ที่ได้เกิดมาเป็นครู และรักชีวิตครู ทุ่มเทให้แก่งานครูเพื่อศิษย์ ขอเติมส่วนที่ไม่ได้พูด ว่า คำพูดนี้ของผมเป็นจริงต่อคนที่รักและเห็นคุณค่าของการเป็นครูเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่รัก ไม่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง ก็จะไม่ได้รับพรจากการเป็นครู ครูเพื่อศิษย์/ครูสอนดี ไม่ควรไปยัดเยียดความเชื่อนี้แก่เขา อย่าไปคิดว่าเขาเป็นครูไม่ดีหรือคนไม่ดี คนเราย่อมคิดต่างกันได้

ชีวิตที่พอเพียง : 1425. ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

วันที่ ๑๐ ต.ค. ๕๔ สสค. จัดประชุมเปิดตัวหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ : สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง ๕๖ ที่แปลมาจากหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire : The Methods and Madness Inside Room 56 เขียนโดย Rafe Esquith   ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมคลั่งใคล้   และนำไปสู่คำว่า “ครูเพื่อศิษย์” ที่ใช้กันแพร่หลาย เกิดขบวนการครูเพื่อศิษย์ หรือชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสดศรีฯ  สร้างความปิติยินดีให้แก่ผมเป็นอันมาก   และเมื่อ สสค. จัดให้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ ผมได้รับเชิญให้เขียนคำนิยม อ่านได้ที่นี่

สำหรับผม ผมมองว่าหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire : The Methods and Madness Inside Room 56 ได้จุดชนวนของขบวนการ All for Education ขึ้นในสังคมไทย   เพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย   ให้เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคศตวรรษที่ ๒๑   เท่ากับเป็นการช่วยกันวางรากฐานอนาคตของสังคมไทยผ่านการสร้างคน สร้างสมาชิกของสังคมไทยยุคใหม่

ในการประชุมเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค. ครูเรฟ ได้กรุณาบินมาร่วมเสวนาเรื่อง “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ”   และผมได้รับเชิญไปร่วมด้วย โดยทาง สสค. ให้โพยมาดังนี้

ประเด็นอภิปรายสำหรับวิทยากร

  • ความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้
  • สะท้อนแนวคิดและมุมมองต่อวิธีการเรียนการสอนที่มีลักษณะโดดเด่นของครู Rafe คือ อะไร
  • คุณค่าของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ตรงไหน
  • การเรียนรู้สำคัญของหนังสือเล่มนี้ต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาครูของไทยคืออะไร
  • ทักษะที่สำคัญของเด็กไทยในยุคปัจจุบันคืออะไร และครูจะมีส่วนสนับสนุนทักษะเหล่านี้อย่างไร
  • จะแนะนำให้ครูไทยนำประเด็นอะไรไปใช้ เสนอแนะอย่างไร

เป็นการเตรียมการประชุมที่รอบคอบมาก   และช่วยให้ผมเตรียมใช้เวลา ๑๕ นาที บอกแก่ผู้มาร่วมเสวนาว่า    ห้องเรียนตามในหนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นห้องเรียนนอกแบบอีกต่อไป   แต่จะกลายเป็นห้องเรียนมาตรฐาน   โรงเรียนใดปรับตัวได้เร็ว นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ฝึกฝนตนเองเพื่อยกระดับขีดความสามารถได้เต็มตามศักยภาพของตน

ห้องเรียนตามที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ คือห้องเรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑   ที่จะทำให้นักเรียนได้ฝึกฝน 21st Century Skills ซึ่งหมายความว่าเป็นการเรียนรู้ที่นอกจากได้ความรู้เชิงสาระวิชาแล้ว ยังได้ทักษะที่สำคัญยิ่งต่อการเป็นมนุษย์ หรือการดำรงชีพ ในศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งการเรียนรู้ในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไปไม่ถึง    ทำให้การเรียนรู้ในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนักเรียนเกิดการเรียนรู้ในระดับที่ตื้น อยู่เพียงแค่รู้วิชา    ครูเน้นสอนวิชา ไม่ได้เน้นสอนคน ที่ต้องสอนแบบไม่สอน   คือทำหน้าที่ โค้ช ให้ศิษย์เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติเอง   ทั้งปฏิบัติการค้นคว้า และปฏิบัติทำงานในการเรียนแบบที่เรียกว่า เรียนโดยทำโครงงาน (PBL – Project-Based Learning)

การดิ้นรนขวนขวายค้นคว้าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์    เมื่อโลกเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนมนุษย์เปลี่ยน รูปแบบของห้องเรียนจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย   และครูที่ไวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็จะแสวงหาวิธีจัดการห้องเรียนใหม่   ครูเรฟคือท่านหนึ่งที่แสวงหา และประสบความสำเร็จ   แล้วท่านก็เอาประสบการณ์ของท่านเขียนหนังสือเผยแพร่จนกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี   เพราะสังคมกำลังต้องการรูปแบบการเรียนรู้ในกรอบใหม่ ที่ไม่ใช่แบบเดิมที่ล้าสมัยและไม่ทำให้ Learning Outcomes เป็นไปตามความต้องการของยุคใหม่ ที่เรียกว่า 21st Century Skills

และที่เมืองไทยก็มีหลายโรงเรียนที่ดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหานั้น   และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงเรียนกระแสทางเลือก   ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนราษฎร์ เพราะมีอิสระที่จะแสวงหานอกกรอบ    หนึ่งในโรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัดที่นักเรียนเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา    เข้ามาโดยการจับฉลาก คือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา    มีผลงานพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนอกแบบที่คล้ายของครูเรฟมาก และเป็น “นอกแบบ” ในบริบทไทย    ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ที่นี่

บรรยากาศของเวทีเสวนา ดูได้จากเว็บไซต์ ของ สสค. ที่นี่

ผมกลับมาบ้านนอนหนึ่งคืน    นึกได้ว่า ได้บอกแก่ครูสอนดี ๑๕๐ คน ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานจากทั่วประเทศว่า ชีวิตของครูเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตของคนมีบุญ ที่ได้เกิดมาเป็นครู และรักชีวิตครู ทุ่มเทให้แก่งานครูเพื่อศิษย์    ขอเติมส่วนที่ไม่ได้พูด ว่า คำพูดนี้ของผมเป็นจริงต่อคนที่รักและเห็นคุณค่าของการเป็นครูเท่านั้น    สำหรับคนที่ไม่รัก ไม่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง ก็จะไม่ได้รับพรจากการเป็นครู    ครูเพื่อศิษย์/ครูสอนดี ไม่ควรไปยัดเยียดความเชื่อนี้แก่เขา    อย่าไปคิดว่าเขาเป็นครูไม่ดีหรือคนไม่ดี    คนเราย่อมคิดต่างกันได้

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๔  ปรับปรุง ๑๑ ต.ค. ๕๔

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 08:01 น.