อ่านไม่ออก นับไม่เป็น

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
ผมสนใจที่เขาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบอกว่า ร้อยละ ๒๓ ของเด็ก ม. ๖ ด้อยด้านทักษะการอ่านระดับพื้นฐาน (rudimentary reading skills) โดยเด็กเหล่านี้อ่านป้ายถนนออก เขียนชื่อตนเองได้ แต่เมื่อให้กรอกแบบฟอร์มเสียภาษี ทำไม่ได้ หรือให้อ่านข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ แล้วให้สรุปสาระ ทำไม่ได้

อ่านไม่ออก นับไม่เป็น

บทความเรื่อง Can’t Read, Can’t Count  โดย Rodger Doyle ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2001    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า จากการศึกษาในปี 1999 มีคนอเมริกันที่หางานทำ ร้อยละ ๓๘ ทดสอบพบว่าไม่มีพื้นความรู้ด้าน อ่าน เขียน เลข เพียงพอสำหรับทำงาน   ไม่มีใครต้องการจ้าง

บทความนี้ระบุปัญหา แต่ไม่ได้แนะทางแก้   เป็นบทความสั้นๆ เกี่ยวกับปัญหาในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๒๐ ปีมาแล้ว   ซึ่งน่าจะคล้ายกับสภาพของไทยในเวลานี้มาก   คือนักเรียนในระดับมัธยมในสัดส่วนที่สูง ขาดทักษะพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต    เขียนถึงตอนนี้ผมคิดต่อว่า แล้วในอนาคตเขาจะดำรงชีพอย่างไร    ผมตอบว่า เมื่อประกอบสัมมาชีพไม่ได้    คนเราก็ย่อมเอาตัวรอดด้วยมิจฉาชีพ

เขาเอ่ยถึงข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศออกมาในเดือนสิงหาคม 2001  ว่า กว่าหนึ่งในสามของนักเรียนชั้น ม. ๖ ทั้งหมด    และกว่าสองในสามของนักเรียนผิวดำชั้น ม. ๖   ไม่มีสมรรถนะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์   เขียนถึงตอนนี้ ผมนึกถึงครูชั้นประถมในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ผมไปรู้จักเมื่อเกือบสิบปีก่อน เป็นคนพูดเก่งมาก    แต่เขียนหนังสือไม่เป็นประโยค     น่าตกใจมาก

ในบทความมีกราฟแท่งแสดงร้อยละของเด็กนักเรียน ม. ๖ ที่สมรรถนะด้านอ่าน และคณิตศาสตร์ ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน แยกเป็นเชื้อชาติ   ซึ่งที่แย่ที่สุดคือคนดำ แย่รองลงมาคือฮิสแปนิก   ที่น่าแปลกใจคือเด็กจากเอเซีย มีสัดส่วนเด็กที่ด้อยด้านคณิตศาสตร์ต่ำที่สุด ต่ำกว่าเด็กขาว

ผมสนใจที่เขาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง   และบอกว่า ร้อยละ ๒๓ ของเด็ก ม. ๖ ด้อยด้านทักษะการอ่านระดับพื้นฐาน (rudimentary reading skills)   โดยเด็กเหล่านี้อ่านป้ายถนนออก   เขียนชื่อตนเองได้   แต่เมื่อให้กรอกแบบฟอร์มเสียภาษี ทำไม่ได้   หรือให้อ่านข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ แล้วให้สรุปสาระ ทำไม่ได้

เขาบอกว่า ที่จริงนักเรียนเหล่านี้ยังขาดความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์    แต่ ข้อด้อยเหล่านั้นยังไม่ก่อปัญหาต่อชีวิตเท่ากับ ด้อยสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์และด้านการอ่าน

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ต.ค. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2013 เวลา 10:09 น.