วิชาการสายรับใช้สังคม : ตัวอย่างด้านสังคมศาสตร์

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

รศ. ดร. อรทัย อาจอ่ำ แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม    ส่งรายงานผลการวิจัยเรื่อง การสร้างเสริมพลังอำนาจชุมชนชาวนา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ทางการวิจัย : ประสบการณ์จากอำเภอขุขันธ์ ศรีสะเกษ มาให้    ผมอ่านแล้วเห็นตัวอย่างนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ ที่ลงทำงานวิจัยในพื้นที่   เพื่อร่วมสร้างเสริมพลังอำนาจ ความมั่นใจตนเอง ของชุมชนในชนบท

รายงานดังกล่าว อ่านได้ ที่นี่

ดร. อรทัย ยังเผยแพร่ผลงานในที่ต่างๆ    เพื่อสร้างวาทกรรมการเสริมพลังอำนาจ (empowerment) ต่อชุมชนชาวนา อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ดัง ตัวอย่างนี้

อ่านแล้วผมตรึกตรองว่า นี่คืองานวิชาการสายรับใช้สังคม ใช่หรือไม่    คำตอบคือจะว่าใช่ก็ใช่    จะว่าเป็นงานวิชาการสายวิชาการแท้ก็ใช่    แล้วแต่จะเสนอให้ประเมินในมุมใด

หากจะเสนอเป็นผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม    การประเมินต้องเน้นวัดที่ผลกระทบต่อความมั่นใจตนเองของคนในชุมชน    วัดอย่างไรผมไม่ทราบ    รู้แต่ว่า นั่นคือโจทย์วิจัยสำคัญ ที่ สกอ. ควรร่วมกับ สกว. ประกาศให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพิ่อหาวิธีวัด

หากจะเสนอเป็นผลงานสายวิชาการแท้   การประเมินต้องวัดตามวิธีการประเมินผลงานวิชาการตามปกติ    คือดูที่นวภาพ (novelty) ทางวิชาการ, ความแม่นยำน่าเชื่อถือ, และเมื่อเผยแพร่แล้ว ได้รับการยอมรับอ้างอิงในวงการวิชาการด้านนั้นๆ, และเกณฑ์อื่นๆ ที่มีปรากฎชัดเจนตามที่ กพอ. กำหนด

เขียนบันทึกนี้แล้ว ทำให้นึกออกว่า ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม จะเห็นผลกระทบแท้จริง ต้องทำต่อเนื่องยาวนาน   จึงต้องทำงานแบบเป็นโปรแกรม   ไม่ใช่แบบเป็นโปรเจ็คท์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 09:08 น.