ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๕๗. เถียง Malcolm Gladwell

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

หนังสือเล่มใหม่ของ Malcolm Gladwell ชื่อ David and Goliath: Underdogs, Misfits and the Art of Battling Giantsh ผมถือไปอ่านต่อบนเครื่องบิน ระหว่างเดินทางไปบราซิล    อ่านแล้วเกิดปิ๊งแว้บ ว่าเรื่องที่เขานำมาเล่าอย่างน่าอ่านน่าติดตามนั้น    เราไม่จำเป็นต้องสรุปอย่างที่เขาพยายามสรุปให้เราฟัง/เข้าใจ

กล่าวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า Gladwell ผิดนะครับ    ข้อสรุปของเขาถูกต้อง และประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง    ประเด็นเรียนรู้ตามในหนังสือเล่มนี้ ถ้า Gladwell ไม่เอามาชี้ให้เห็น ผมจะไม่มีวันเข้าใจ

แต่ ในความเป็นจริง หนึ่งเรื่อง สรุปได้หลายบทเรียน”    ผมจึงลองสรุปข้อเรียนรู้จากเรื่องในหนังสือเล่มเดียวกันนี้แหละ    แต่สรุปด้วยทฤษฎีหรือหลักการอื่น

ข้อสรุปนี้ไม่รับรองว่า เป็นของผมล้วนๆ  หรือด้วยอิทธิพลของไวน์ที่อร่อยยิ่ง ของสายการบิน เอมิเรตส์ ชื่อ Chateau Phelan Segur 2004 St Estephe

ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ของ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ คือ    ยุทธศาสตร์การเอาชนะการต่อสู้ของผู้อ่อนแอกว่า     ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับข้อได้เปรียบของตนเอง    ไม่ใช่หลงใช้ยุทธศาสตร์ที่ยึดถือกันโดยทั่วไป ที่ก่อความได้เปรียบแก่ผู้แข็งแรง    ลูกเล่นและวิธีหาข้อมูลเรื่องราวมาเล่า และนำสู่ข้อสรุป ให้ทั้งความบันเทิงในการอ่าน และได้ปัญญา … เหมือนเดิม

แต่ … ผมหาข้อสรุปใหม่ ข้อเรียนรู้ใหม่ (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใหม่ เพราะใช้ทฤษฎีที่เล่าต่อๆ กันมาเป็นพันปีต่อเรื่องที่ แกลดเวลล์เล่า    ว่า ไม่ว่าผู้แข็งแรงกว่า หรือผู้อ่อนแอกว่า  ยุทธศาสตร์เพื่อการเอาชนะคือ รู้เขา - รู้เรา” (รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง) ของ ซุนวู

อ่านเรื่องราวที่เดวิด ตัดหัวโกไลแอท แล้ว    ผมเห็นด้วยว่า โกไลแอท มีดีอย่างเดียวคือตัวโต และพละกำลังมาก    แต่มีข้อด้อยสุดๆ คือโง่    คิดว่าการต่อสู้มีแบบเดียวคือฟาดกันด้วยดาบ    เดวิดตัวเล็กและไม่มีเกราะ รู้เขา” ว่ารบตามรูปแบบในสมัยนั้น คือรบประชิด ฟาดกันด้วยดาบ แพ้แหงๆ    ไม่มีทางเอาชนะพลังของยักษ์ได้    ต้องรบระยะห่าง ใช้กระสุนก้อนหิน    ป๊อกเดียวยักษ์ล้ม และลุกยาก เพราะเกราะเหล็กหนักตั้ง ๕๐ กิโล    ชั่วพริบตาศีรษะยักษ์ก็หลุดจากร่างมาอยู่ในมือเดวิด

เดวิด ฉลาด ที่รู้เขา ว่าเขา (โกไลแอทแรงมาก มีเกราะป้องกัน แต่งุ่มง่าม และโง่    มายืนท้าโดยไม่คิดว่ามีวิธีต่อสู้กันแบบอื่น    เช่น เหวี่ยงกระสุนใส่หัวได้โดยวิธีง่ายๆ แต่อาศัยฝีมือ    เดวิดใช้โอกาสเลือกวิธีต่อสู้ ที่ตนได้เปรียบ   โดยที่โกไลแอท ก็เลือกวิธีต่อสู้แบบที่ตนถนัด แต่ไม่ใช่ผู้กำหนดวิธีการต่อสู้   ย่อมแพ้แล้วตั้งแต่แรก   เพราะโกไลแอท ไม่ รู้เขา”    และไม่มีวิธีกำหนดเงื่อนไขของการต่อสู่ให้ตนได้เปรียบ

ตัดฉากมาที่ นิวยอร์คย่าน Brownsville ที่มีอัตราอาชญากรรมสูงที่สุดในนิวยอร์ค เรื่องวิธีการที่หัวหน้าตำรวจ ชื่อ Joanne Jaffe ใช้ในการแก้ปัญหาอาชญากรรม    ซึ่งสรุปได้ว่า ตำรวจใช้วิธีการของนักจิตวิทยา    คือให้ความเห็นอกเห็นใจครอบครัวที่มีวัยรุ่นนักก่อปัญหา    โดยไม่เรียน ออกมามีชีวิตก่อกวนความสงบสุขของสังคม    อ่านวิธีการของหัวหน้านายตำรวจหญิงคนนี้แล้ว    ผมยกนิ้วให้ ว่า หลักการที่ทำใหเธอประสบความสำเร็จ คือ รู้เขา” เข้าใจเขา    ว่าครอบครัวที่มีเด็กที่เราตราว่าเหลือขอนั้นเขาอยู่กันอย่างไร เขาคิดอย่างไร   เข้าไปแสดงความเห็นใจเขา เข้าใจเขา ช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้น   อัตราอาชญากรรมลดลงกว่ายี่สิบเท่าใน ๓ ปี

เรื่องจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมือง ๓๐ ปี   ระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค กับผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแต๊นท์ ในไอร์แลนด์เหนือ   ก็มาจากการใช้อำนาจ แบบไม่เข้าใจความคิดของผู้เกี่ยวข้อง   คือไม่ รู้เขา รู้เรา”   โดยที่ แกลดเวลล์ อธิบายว่า เพราะไม่เข้าใจ Principle of Legitimacy (หลักการของความชอบธรรม)   ได้แก่ (๑) ผู้ถูกกระทบโดยกติกา มีส่วนกำหนดกติกา  (๒) กติกานั้นต้องสมเหตุสมผล และใช้อย่างคงเส้นคงวา   (๓) บังคับใช้อย่างเสมอหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ

อ่านเรื่องราวของ IRA  และสงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์ แล้ว ผมนึกถึงเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน   ผมอยากให้ผู้รับผิดชอบสร้างสันติสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ อ่านหนังสือเล่มนี้

การเถียง แกลดเวลล์ ครั้งนี้ ไม่ได้เถียงแบบไม่เห็นพ้อง   แต่เถียงว่า มีวิธีตีความแบบอื่นได้ด้วย

ถ้าครูยอม หรือส่งเสริมให้ศิษย์เถียงครู หรือเถียงตำรา ได้อย่างนี้   สังคมไทยจะประเทืองปัญญาขึ้นมาก

แต่ที่ผมไม่เถียงเลย คือวิธีคิด หรือกระบวนทัศน์ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง แบบขั้วตรงกันข้าม   ระหว่างการแก้แค้น กับการให้อภัย   ผมอยู่ข้างการให้อภัย   และการยึดถือแนวทางนี้ ทำให้ผมมีชีวิตที่ดีดังเช่นปัจจุบัน

เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ หากไม่เอ่ยถึง กราฟรูปตัว ยู หัวกลับ (inverted U curve) ก็จะไม่ครบถ้วน   ปรากฏการณ์นี้ บอกเราว่า สิ่งที่ว่าดีนั้น หากมากเกินไป กลับก่อผลร้าย    ทำให้ผมเถียง มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ได้อีกข้อหนึ่ง    คือเรื่องทางสายกลาง    แต่ทางพุทธเราเอ่ยถึงทางสายกลางแบบเหมารวม    หากดูตามกราฟรูปตัวยูหัวกลับ    ในบางช่วงยิ่งมากยิ่งดี   แต่พอถึงจุดหนึ่ง ยิ่งมากยิ่งไม่ดี    คือ ทางสายกลางก็มีขอบเขตจำกัด

จึงมาถึงการตีความ กราฟรูปตัวยูคว่ำ  ว่าหมายถึงธรรมชาติของข้อจำกัด (limits)  และหมายถึงความซับซ้อนของสรรพสิ่ง    ที่คิดชั้นเดียวอาจจะผิด หรือไม่รอบคอบพอ    และบางเรื่องบางกรณี ความเป็นจริงมันตรงกันข้ามกับความเข้าใจหรือเหตุผลโดยทั่วไป

ผมชอบ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ตรงนี้   เขาถนัดนำเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วไป มาให้เราเรียนรู้    อาศัยข้อมูลหลักฐานมายืนยัน

ข้อเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ คือ ข้อได้เปรียบ ที่ได้จากความอ่อนแอ หรือความผิดปกติบางด้าน   ทำให้ได้รับการยอมรับให้สดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากประเพณีนิยมได้    นำไปสู่จุดเด่น ที่คนทั่วไปไม่มี    และสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต    เขายกตัวอย่างหลายคน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๕๖

บนเครื่องบินไปริโอ เดอ จาไนโร

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 13:59 น.