ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๖๘. ต่อเนื่องยั่งยืนด้วยธุรกิจแนวใหม่

วันอาทิตย์ที่ 05 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ วาระประชุมแบบ retreat และวาระปกติ ด้วยความพิศวงเรื่อยมา   ว่าในท่ามกลางกระแสปั่นป่วนทางการเมืองของไทย   และกระแสปั่นป่วนทางการเงินและเศรษฐกิจของโลก ที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน   ธนาคารมีผลประกอบการดีเยี่ยม ได้อย่างไร

วันที่ ๑๕ พ.๕๖ เป็นการประชุมแบบ retreat ปลายปี ที่จังหวัดขอนแก่น   ช่วงบ่ายเป็นการเสนอ business plan ของปี ๒๕๕๗ และในระยะยาว ๓-๕ ปี      ฟังแล้วผมขอนำมาสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้ง ๑๓ ล้านคน ว่า ท่านจะสมหวังต่อการดำเนินการของธนาคารของท่าน   ในรูปแบบการทำงานอย่างที่นำเสนอในวันนี้

เพราะในปี ๒๕๕๖ และปีต่อๆ ไป ธนาคารไทยพาณิชย์จะใช้ business model ที่ต่างไปจากเดิม

ทีมงานผู้บริหารระดับสูง มี ดรวิชิต สุรพงษ์ชัย  และคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เป็นแม่ทัพใหญ่  ที่มองยุทธศาสตร์ภาพใหญ่   ซึ่งผมตีความง่ายๆ ว่า "จะอยู่ได้ยั่งยืน ต้องไม่ทำธุรกิจแบบเดิมๆ"   แล้วมีทีมบริหารคนหนุ่มสาวไฟแรง มาคิดรูปธรรมของธุรกิจแบบใหม่ๆ ผมเข้าใจว่าธนาคารทุกธนาคารต่างก็เข้าใจยุทธศาสตร์นี้ดี   การแข่งขันจึงอยู่ที่ฝีมือในการทำให้ยุทธศาสตร์เป็นจริง และคุณภาพของการให้บริการ

ไม่ทราบว่าเพราะผมมีอคติจากการเข้าไปเป็นกรรมการธนาคารหรือเปล่า    ที่ทำให้ผมมองว่า องค์กรธุรกิจที่ทำงานอย่างถูกต้อง มีคุณธรรมจริยธรรม   และมีการริเริ่มสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมในการทำธุรกิจ    คือองค์ประกอบสำคัญของสังคมสมัยใหม่   เป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง    และยิ่งนับวันพลังนี้จะสูงกว่าพลังของฝ่ายภาครัฐ   แต่คิดอย่างนี้ก็อาจไม่ถูกต้อง   จริงๆ แล้วบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าได้ ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ต้องทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี เสริมพลังกัน

ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลประกอบการดี และเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นเวลา ๕ ปีติดต่อกัน     กำไรเพิ่มจากปีละ 20 พันล้านบาท มาเป็นเกือบ ๕๐ พันล้านบาทในปีนี้ (ตัวเลขประมาณการ)   และตาม business plan ปี 2557 มีเป้ากำไรเพิ่มขึ้นอีก   ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่องค์ประกอบต่างๆ ของธนาคารทำงานอย่างประสานงานกัน อย่างเป็นระบบ มีหลักวิชา มีประสบการณ์   และที่สำคัญ มีการเรียนรู้สูง

เป้าหมายต่อไปคือการเป็น Knowledge-Based Organization   สามารถ capture ความรู้ที่ไม่มีในตำราสำหรับใช้ในการทำงาน   โดยที่ความรู้นั้นเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานธนาคารกับลูกค้า   และปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง   นำมาทำให้เป็น Institutional Knowledge   จัดเก็บไว้ใช้อย่างเป็นระบบ   ให้ดึงเอามาใช้งานได้ง่าย   สามารถเสนอบริการแก่ลูกค้าได้ตรงใจ ตรงความต้องการ ตรงเวลา

ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่จะกัดกร่อนสังคมไทยคือคอรัปชั่น   ที่มีจุดเริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง   คณะกรรมการธนาคารจึงมีมติชัดเจนว่าให้ฝ่ายจัดการระมัดระวังในเรื่องนี้   ไม่ทำธุรกิจกับกิจการที่ส่อเค้าชัดเจนว่าน่าจะมีการแสวงประโยชน์โดยมิชอบอยู่ด้วย   เรื่องนี้มีกรณีที่เป็นรูปธรรม แต่ผมนำมาเปิดเผยไม่ได้

ในฐานะที่ผมเป็นคนมหาวิทยาลัย   อดเปรียบเทียบการบริหารธนาคารกับการบริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้   จุดแตกต่างใหญ่มี ๒ ส่วน คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลง จริงจังและได้ผลในธนาคาร   แต่ที่มหาวิทยาลัยมีแรงเฉื่อยสูงมาก   ประการที่สอง ค่าตอบแทนที่คนเก่งพอๆ กัน ในสองวงการนี้ แตกต่างกันมากเหลือเกิน   ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยเก่งๆ อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยมีความสุขอยู่ที่ความเป็นอิสระทางวิชาการ   แลกกับรายได้ที่ควรจะสูงมาก   ซึ่งก็ตรงกับอุดมการณ์ในชีวิตของผม   ที่ต้องการใช้ชีวิตเพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่ตนมาเกิด และเข้าไปอยู่   เป็นชีวิตที่ให้ มากกว่าเอา

ผมคิดว่าจุดแตกต่างทั้งสองมันเป็นเหตุเป็นผลกันด้วย   คือความเป็นอิสระทางวิชาการ และความคิดว่าตนอยู่กับอุดมการณ์สูงส่ง    มันเป็นความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ใน ดินแดนแห่งความสุขสบายไร้กังวล” (comfort zone)  ขาดแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาเป้าหมายใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ใหม่ และวิธีทำงานใหม่ๆ

ทุกเช้า ผมจะโปรยอาหารเลี้ยงนกเขาของผม (จริงแล้วเป็นนกป่า)    ในวันหยุดผมจะมีโอกาสนั่งสังเกตพฤติกรรมการจิกอาหารของเขา    และเห็นว่า ด้วยสัญชาตญาณป่า ที่ต้องระวังภัยทุกฝีก้าว (หรือทุกครั้งที่จิกอาหาร) เขาจะผงกหัวดูเหตุการณ์โดยรอบ   ข้อสังเกตนี้ นำไปสู่ความแตกต่างข้อที่ ๓ ระหว่างคนธนาคารกับคนมหาวิทยาลัย    คือคนธนาคารจะระแวดระวังสภาพแวดล้อมของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา    ผมเดาว่าส่วนหนึ่งเพราะเคยเจ็บมาแล้ว (เช่นตอนวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ปี ๒๕๔๐)    ดังที่ตอนนี้ บอร์ด ก็เตือนว่า ให้เพิ่มเงินกองทุนสำรอง เพราะปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเมือง    ส่วนคนมหาวิทยาลัยจะมีแนวโน้มที่จะคิดแบบมองเรื่องต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย (inward-looking) เป็นที่ตั้ง    ไม่ค่อยระแวดระวังปัจจัยภายนอก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒.๕๖ ปรับปรุง ๒๖ พ.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 05 มกราคม 2014 เวลา 11:54 น.