ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๗. โยนิโสมนสิการระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย สู่การปฏิรูปประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เอกสารเล่มเล็ก เรื่อง ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยและ โครงการประเมินการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินร่วมสามกองทุนภายใต้นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนที่พิมพ์เผยแพร่โดย สวรส. ในปี ๒๕๕๖   บอกอะไรเราหลายอย่าง

คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตั้งแตีปี ๒๕๔๕    จะครบ ๑๒ ​ปี ในเดือนเมษายา ๒๕๕๗ นี้     โดยระบบที่มาทีหลังสุด และครอบคลุมจำนวนคนมากที่สุดคือระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารโดย สปสช.    ส่วนระบบที่มีมานานที่สุดคือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ผมมักเรียกว่า สวัสดิการ ๓ ชั่วโคตร    คือดูแลตัว ข้าราชการและคู่สมรส  บุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ (ไม่เกิน ๓ คน)  และพ่อแม่    ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อเฟื้อมาก และตัวข้าราชการได้ประโยชน์จริงๆ    แต่ในที่สุดรัฐบาลก็รับภาระทางการเงินไม่ไหว    จึงต้องปลดบางหน่วยงานออก ไม่ให้บุคลากรเป็นข้าราชการอีกต่อไป    ให้เป็นพนักงานราชการ    ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลจำกัดที่ตัวข้าราชการคนเดียว    เรื่องสวัสดิการต่างๆ นั้น มันเป็นของดี    แต่ถ้าไม่มีวิธีจัดการให้พอดี ก็มีปัญหาไม่มีเงินจ่าย

 

ระบบที่มากับระบบแรงงาน คือระบบประกันสังคม

หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานวิจัยเปรียบเทียบสวัสดิการด้านสุขภาพของทั้ง ๓ ระบบนี้    และผมจะไม่กล่าวถึงสาระ เพราะท่านสามารถเข้าไปอ่านหนังสือหรือดาวน์โหลดเก็บไว้ใช้งานได้ ตามลิ้งค์ ที่ให้ไว้แล้ว    แต่ผมจะขอโยนิโสมนสิการ (reflect, AAR) ประเด็นที่ผมต้องการ ลปรร. กับสังคมไทย ๓ ประการ

๑. โครงการต่างๆ ของบ้านเมือง    ต้องเตรียมการประเมินเพื่อพัฒนา ไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ตอนวางแผนกิจกรรมนั้นๆ    เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง ต้องมีการวิจัยเพื่อประเมินผล    โดยต้องมีทีมนักวิจัยที่แม่นยำวิชาการ และซื่อสัตย์มีความน่าเชื่อถือ (มี integrity) ไม่มีใครสั่งให้แปลงผลวิจัยได้    หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่าง

สังคมไทยต้องมีองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตามข้อ ๑ ในเรื่องหลักๆ ของบ้านเมืองได้   เช่นด้านเศรษฐกิจ เรามี ทีดีอาร์ไอ   ด้านสุขภาพ มี สวรส.    แต่ด้านที่สำคัญในระดับคอขาดบาดตายต่ออนาคตของบ้านเมือง คือด้านการศึกษา เราไม่มีหน่วยงาน และไม่มีการสร้างนักวิจัยตามข้อ ๑    นอกจากนั้นยังน่าจะพิจารณาจัดตั้ง สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ ตามข้อเสนอของคุณบรรยง พงษ์พานิช ที่นี่

 

๒ การใช้ประโยชน์หน่วยงานวิจัยที่เก่ง และซื่อสัตย์ต่อวิชาการ ยังไม่เป็นวัฒนธรรมของการเมืองและสังคมไทย    ฝ่ายการเมืองต้องการคนทำวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายของตนมากกว่า     ดังกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ เคยกล่าวกับทีมผู้บริหาร สกว. เมื่อประมาณปี ๒๕๔๕ (ผมอยู่ในคณะด้วย) ว่า    ถ้า สกว. อยากได้งบประมาณ ก็อย่าไปคิดตั้งโจทย์วิจัยอื่น   ให้ใช้โจทย์วิจัยว่า ทำอย่างไรนโยบายของรัฐบาลจะได้ผล    และดังกรณี ทีดีอาร์ไอ ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของนักการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหน

 

การปฏิรูปประเทศไทย ควรคำนึงถึงการสร้างระบบปัญญาของประเทศ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 12:35 น.