กระจกส่อง … เด็กวอนขอการศึกษา

วันเสาร์ที่ 05 เมษายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

นที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ในเวทีเปลี่ยนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน จัดโดยสมาคมสภาการศึกษา ทางเลือกไทย ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว    ตอนสาย เด็กๆ ของกลุ่มการศึกษา ทางเลือก เล่นละครให้ดู    ตามด้วยการบอกตรงๆ

ในเวลาชั่วโมงเศษๆ ผมฟังแล้วเกิดความรู้สึกแปลกๆ    ว่าเด็กเหล่านี้คือ “ผู้ได้รับโอกาส”   ในขณะที่ เด็กในโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ “เด็กด้อยโอกาส”    คือ ขาดโอกาสค้นพบตนเอง    ขาดโอกาสดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาใช้ในการเรียนรู้ด้วยการสร้างสรรค์

ฟังดูตรงๆ เด็กที่มาเวทีนี้เสมือนร้องขอให้แก่ตนเอง    แต่คิดให้ดีๆ ผมว่า เขากำลังอ้อนวอนขอ ให้แก่เด็กทั่วประเทศ ให้ได้มีโอกาสดีอย่างเขา … ได้เรียนรู้แบบใหม่     ที่ตรงตามหลักวิชาว่าด้วยการเรียนรู้ แบบใหม่ … การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑

การเรียนแบบ “เข้าโรงผลิตแบบ mass production”    ทั้งหล่อทั้งหลอม    ทำให้เด็กบางคนที่มี “วิญญาณอิสระ” (หรือบางคนอาจเป็น วิญญาณกบฏ) รุนแรง ทนไม่ได้    และประท้วง    กลายเป็นเด็กเกเร ในสายตาครูและผู้ใหญ่    ในละคร เด็กคนหนึ่งถึงกับโดนโรงเรียนให้ออก    เพราะปัญหาความประพฤติ อันมีรากเหง้าของปัญหาจากการขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว     แต่เมื่อได้เรียนจากการลงมือทำ ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตน     อารมณ์รุนแรงแบบต่อต้าน กลายเป็นความสร้างสรรค์     กลายเป็นโอกาส ได้เรียนรู้บูรณาการ เพื่อพัฒนาทักษะรอบด้าน

ผมนั่งฟังเด็กเหล่านี้ แล้วจินตนาการ ตั้งคำถามกับตนเองว่า     ครูที่เหมาะสมต่อเด็กเหล่านี้เป็นอย่างไร    ครูต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร

คำตอบของผมคือ ครูต้องมีทักษะในการฟัง ฟังให้ “ได้ยิน” พลังของความเป็นหน่ออ่อนของความ เปลี่ยนแปลงที่อยู่ภายในตัวศิษย์    และหาทางส่งเสริมให้ศิษย์แสดงออกมาในทางสร้างสรรค์ ในทางที่เป็นคุณ ทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่น

พลังที่อยู่ในตัวเยาวชนนั้น เป็นพลังแห่งศักยภาพ ที่จะออกมาเป็นบวก (ทำลาย) ก็ได้ เป็นลบ (สร้างสรรค์) ก็ได้    เหมือนเทวีของพระอิศวร ที่เป็นพระอุมา (เมตตา อ่อนโยน) ก็ได้ เป็นนางกาลี (โหดร้าย) ก็ได้     ครูมีหน้าที่เอื้ออำนวยให้ ศิษย์ฝึกงอกงามด้านบวกในตน    จนกลายเป็นนิสัย กลายเป็นคนดี คนสร้างสรรค์

ครูจึงต้องฝึกทักษะชีวิต ในการมองที่คนอื่น    เน้นประโยชน์ของคนอื่น    ซึ่งในที่นี้คือศิษย์ของตน    ครูต้องไม่มองศิษย์เป็น “คนอื่น”    แต่มองว่าคือเพชรมีค่าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของครู    จึงเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ ในชีวิตของครูเอง ที่จะช่วยเอื้ออำนวย หรือส่งเสริม ให้ “ศิษย์ดำเนินการเจียระไนเพชรในตน”    กลายเป็นคนมีค่า มีชีวิตที่มีความสุข และเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม

นั่นคือ ครู ทำหน้าที่ช่วยให้ศิษย์ค้นพบและเจียระไน เพชรในตน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มี.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 



แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 เมษายน 2014 เวลา 17:22 น.