ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ศ. นพ. อวย เกตุสิงห์ บรรยายเรื่อง แก่อย่างสง่า ที่ศิริราช เป็นที่ฮือฮากันมาก แม้ในหมู่พวกผมที่ยังเป็นอาจารย์วัยเอ๊าะๆ ยังไม่เคยคิดว่าสักวันตัวเองก็จะเป็นคนแก่เหมือนกัน

บทความนี้อยู่ในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน ที่นี่

ตอนนี้ผมอยู่ในวัยพอๆ กับอาจารย์หมออวยในตอนนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตเรื่อง "แก่สองแบบ" คือ "แบบหด" กับ 'แบบยืด" สิ่งที่หดหรือยืดคือเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่ยึดถือเป็นสาระในชีวิต ไม่เกี่ยวกับอวัยวะใดๆ ของร่างกาย ที่ไม่ใช่แค่หด แต่ถึงกับ "เหี่ยว" เอาทีเดียว

นอกจากไม่เหี่ยวแล้ว จิตใจของคนแก่ยังสามารถสดใสลุกโพลงอยู่ด้วยความหวัง หากเอาจิตใจพุ่งไปที่เรื่องราวสำคัญๆ ของชุมชน/สังคม/บ้านเมือง

นี้คือเคล็ดลับ "แก่แบบยืด" คือยืดความสนใจ ความเอาใจใส่มุ่งมั่น ให้ขยายออกจากตนเอง หรือรอบๆ ตัว ให้ออกไปสู่ผลประโยชน์ของบ้านเมือง

ในกรณีของผม ผมก็เอาใจใส่ศึกษาเพื่อการนี้ เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งช่วยให้ตนเองทันสมัย ในเรื่องนั้นๆ ด้วย ยิ่งเอาประสบการณ์อันยาวนานของคนแก่ใส่เข้าไปเพื่อตีความในความหมายใหม่ๆ ยิ่ง "สนุกเป็นบ้า"

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการ "แก่อย่างสนุก" เสริม "แก่อย่างสง่า" ของท่านอาจารย์หมออวย

เสริมเกร็ดการอบรมน้องใหม่ของศิริราช ในปี ๒๕๐๕ ตอนผมโดนอบรมน้องใหม่ ๗ ชั่วโมง non-stop พี่ปี ๔ คนหนึ่งสั่งสอนว่า ต้องเคารพอาจารย์ ห้ามเอาชื่อหรืออะไรๆ ของอาจารย์มาล้อเล่น และห้ามเรียกอาจารย์หมออวยว่า "ครูอวย" เด็ดขาด เรียกชื่ออาจารย์คนอื่นด้วยคำนำหน้านามว่าครูได้ แต่ห้ามใช้กับชื่ออาจารย์หมออวย

เสริมอีกเกร็ดครับ เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาว่าแพทย์จะถือรุ่นพี่เป็น "อาจารย์" เราจะไม่เรียกแพทย์ที่อาวุโสกว่าว่า "หมออวย" "หมอสุด" เพราะนั่นเป็นการเรียกแพทย์ที่อาวุโสเท่ากันหรือต่ำกว่า กับแพทย์ที่อาวุโสกว่า เราเรียกด้วยคำนำหน้านาม ว่า อาจารย์ทุกคน เช่นอาจารย์หมอสงคราม ไม่เคยสอนผมเลย แต่ผมและหมอรุ่นน้องของท่านเรียกอาจารย์ทุกคน

คำว่า "คุณหมอ" เป็นคำที่หมอจะไม่ใช้เรียกหมอที่อาวุโสกว่า ตรงกันข้าม เป็นคำที่หมออาวุโสใช้เรียกหมอที่เด็กกว่า และอาจารย์และรุ่นพี่ จะเรียกพวกเราตั้งแต่เข้าเรียนแพทย์ปี ๑ ว่า "คุณหมอ" โก้เป็นบ้า



วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.พ. ๕๘