การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ : สู่การพัฒนาคนอย่างเต็มศักยภาพ.

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ : สู่การพัฒนาคนอย่างเต็มศักยภาพ.

ผมเชื่อว่าการศึกษาของไทยในสภาพปัจจุบันจะนำประเทศสู่หายนะ เพราะจะสร้างคนที่ “โง่และไร้เหตุผล” ทั้งชาติ ผมยิ่งศึกษาหลักการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดี ก็ยิ่งเสียดาย ที่สภาพของระบบการศึกษาไทยเป็นเช่นนี้ เสียดายศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทย ที่ได้รับการศึกษาใน รูปแบบผิดๆ ทำให้ขาดโอกาสได้รับการพัฒนาสมองอย่างครบถ้วนสมดุลและที่ร้ายยิ่งกว่านั้น สังคมส่วนรวม ยังร่วมกันกระตุ้นสมองส่วนชั่วร้าย แทนที่จะร่วมกันกระตุ้นสมองส่วนที่รับผิดชอบรอบคอบ

เราไม่ตระหนักว่า สังคมในปัจจุบันกระตุ้นเลือดชั่วของคน มากกว่ากระตุ้นเลือดดี ซึ่งจะมีผลร้ายต่อสังคม และความสงบสุขของทุกคนร่วมกันในระยะยาว และที่สำคัญที่สุด บั่นทอนอนาคตของเยาวชน

ไม่ทราบว่าผมคิดอย่างนี้ผิดหรือถูก

ระบบและวิธีการจัดการศึกษาต้องเป็นไปตามความเป็นจริงในสังคม ต้องฝึกฝนเด็กและเยาวชน ให้มีทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งความเป็นจริง ไม่ปฏิเสธความเป็นจริงในสังคม ทักษะนั้นเรียกว่า “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” ซึ่งเป็นทักษะที่ซับซ้อนมาก

ความรู้ด้าน ศาสตร์แห่งสมอง (Neuroscience) บอกเราว่า การศึกษาคือการฝึกสมองนั่นเอง ผลของการศึกษาจะจารึกไว้ในสมอง ในรูปของระบบเครือข่ายใยประสาท และในรูปของการพัฒนาสมองส่วนที่ถูกกระตุ้น หากกระตุ้นอย่างถูกวิธี สมองอันวิเศษของมนุษย์ก็จะให้คุณแก่เจ้าของ และแก่สังคมส่วนรวมเป็นอันมาก อย่าง มหัศจรรย์ และในทางตรงกันข้าม หากกระตุ้นผิด หลงกระตุ้นสมองแห่งความชั่วร้าย บุคคลนั้นก็จะเป็นคนร้าย ก่อโทษทั้งต่อชีวิตตนเอง และแก่สังคม

ผมเชื่อว่า เวลานี้การศึกษาไทยกำลังกระตุ้นสมองส่วนชั่วร้ายอย่างได้ผล และกระตุ้นสมองส่วนดี แบบไร้ผล เพราะว่าสมองส่วนชั่วร้ายไม่ซับซ้อนมาก กระตุ้นง่าย แต่สมองส่วนดีมีความซับซ้อนมาก กระตุ้นยากหากทำไม่เป็น แต่ถ้าทำเป็นก็ไม่ใช่ของยาก การกระตุ้นสมองส่วนดีนี้เอง ที่เรียกว่าการศึกษาที่แท้จริง และในปัจจุบันต้องกระตุ้นด้วยเป้าหมายให้เกิดทักษะ (ทำได้ ทำจนเป็นนิสัย ทำอย่างรู้คุณค่า) ไม่ใช่เรียนแบบจำ เอามาตอบข้อสอบได้ อย่างที่วงการศึกษาไทยใช้กันอยู่

หนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ และ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ บอกเราว่าที่วงการศึกษาไทยพร่ำบอกอุดมการณ์การศึกษา ด้วยถ้อยคำโตๆ นั้น เป็นการบอกเป้าหมาย แต่ไม่บอกวิธีการที่ถูกต้อง และที่ทำก็เป็นวิธีการที่เก่าล้าสมัย ผู้เรียนจะไม่ได้ฝึกฝนทักษะสำหรับ การดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

การศึกษาที่ถูกต้องสำหรับศตวรรษใหม่ ต้องเรียนให้บรรลุทักษะ คือทำได้ ต้องเรียนเลยจากรู้วิชา ไปสู่ทักษะในการใช้วิชาเพื่อการดำรงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง การเรียนจึงต้องเน้นเรียนโดยลงมือทำ หรือการฝึกฝนนั่นเอง และคนเราต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป้นตลอดชีวิต

จารณ์ พานิช

๗ มี.ค. ๕๕:

คัดลอกจาก https://www.gotoknow.org/posts/483240

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 มกราคม 2016 เวลา 21:52 น.