ชีวิตที่พอเพียง 3081. ชีวิตที่ดี

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บทความเรื่อง There is No One Wayto Live a Good Life เขียนโดย Scott Barry Kaufman ลงในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๑ น่าอ่านมาก    มีความสุ่มลึกมาก

แค่สังกัดของผู้เขียนก็น่าสนใจแล้วคือเป็นผู้อำนวยการสถาบันชื่อ Imagination Institute  และเป็นนักวิจัยและอาจารย์ที่ Positive Psychology Center  แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย    ท่านแต่งหนังสือด้าน cognitive psychology ที่น่าอ่านหลายเล่ม

เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นคำว่า humanistic psychology

ชีวิตที่ดีไม่ได้มีแบบเดียว    ผู้เขียนเสนอสองแนวทาง 

แนวทางแรกเรียกว่า แนวทางอุทิศตน (surrender yourself) แก่อุดมการณ์สูงส่ง

แนวทางที่สองเรียกว่า แนวทางพัฒนาเต็มศักยภาพ (fully human) แห่งความเป็นมนุษย์     มองมนุษย์เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี   ซึ่งหากมีดินดีน้ำดีก็จะพัฒนาเต็มศักยภาพ    ซึ่งผมคิดว่าจริงๆ แล้วมีความซับซ้อนมาก    และมองมนุษย์คนเดียวโดดๆ ไม่ได้   คนเราพัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น    เป็นผลของ connectedness    

ไม่ว่าแนวทางใดชีวิตที่ดีต้องบรรลุสภาพ “เหนือตัวตน” (transcend yourself)   

อ่านวิธีที่ผู้เขียนศึกษา Abraham Maslow และเถียงข้อเขียนของ David Brooks  เรื่อง When Life Asks for Everything แล้วผมศรัทธามาก    ที่จริงข้อเขียนของ David Brooks ก็ลุ่มลึกมาก   การถกเถียงกันเช่นนี้แหละที่ผมชอบอ่าน   เพราะมันประเทืองปัญญา 

ผู้เขียนบอกว่า David Brooks ตีความ Abraham Maslow ผิด    และเมื่ออ่านบทความทั้งหมดแล้ว    ผมชื่นชอบที่นักเขียนทั้งสองถกเถียงกันด้วยการตีความMaslow   ออกสู่สาธารณะ  ช่วยการเรียนรู้ความเข้าใจชีวิตที่มีความสุข   

ผมชอบมาก ที่ Kaufman เล่าว่าในตอนช่วงปลายชีวิต Maslow เขียนเถียงทฤษฎี hierarchy of needs ของตนเอง    ว่าพัฒนาการด้านจิตใจคนไม่ได้หยุดแค่ระดับ self-actualization   เพราะนั่นเป็นการมองจำกัดที่ตนเอง    ยังมีขั้นพัฒนาการที่สูงขึ้นไปอีกคือการทำดีเพื่อผู้อื่น    เขายกคำหลายคำที่แสดงระดับพัฒนาการของมนุษย์ได้แก่ morality, compassion, authenticity, responsibility, และ respect for individual difference   

และ Maslowยังศึกษาแนวทางพระโพธิสัตว์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

สุดยอดของข้อเขียนนี้คือประโยคสุดท้าย  “ .. it is implied that the best way to transcend the ego is via having a strong identity”   ซึ่งสะกิดให้ผมคิดต่อว่านี่แหละ เป้าหมายของการศึกษา   ที่เราต้องวางรากฐานให้แก่เด็ก

ที่จริงบทความของ David Brooks ก็ประเทืองปัญญาสุดๆ   เขาเสนอพัฒนาการของมนุษย์สองแนวทาง คือ แนวทาง ความสุข ๔ ชนิด  กับแนวทางระดับความต้องการ (hierarchy of needs) ของ Maslow  ต้องอ่านเองนะครับจึงจะได้ความมัน

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ธ.ค. ๖๐

ห้อง 623, Flora Creek Resort, หางดง,เชียงใหม่


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 15:37 น.