มีโรงเรียนไปทำไม : 2. โรงเรียนแบบเก่า โรงทรมานเด็กด้วยหลักสูตรที่พองขึ้นๆ

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ที่ร้ายที่สุดคือความคิดแบบบังคับบัญชา (command and control) ที่ครอบงำวงการศึกษา

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 2. โรงเรียนแบบเก่า โรงทรมานเด็กด้วยหลักสูตรที่พองขึ้นๆ

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สิ่งที่ผิดทางการศึกษา คือมุ่งจัดการศึกษาแบบ “มีข้อกำหนด” (prescriptive) ซึ่งก็คือหลักสูตร ที่นับวันจะพองตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณความรู้ที่เพิ่มขึ้น  กำหนดให้ต้องถ่ายทอดความรู้ตามที่กำหนด  และต้องจัดการสอบแบบการทดสอบมาตรฐาน ที่ล้าสมัย เพื่อดูว่าได้ผลตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือไม่  และที่ร้ายที่สุดคือความคิดแบบบังคับบัญชา (command and control) ที่ครอบงำวงการศึกษา

ผมขออภัยท่านที่อยู่ในวงการศึกษา ที่ถอดความในหนังสือนี้มาลงบันทึกด้วยถ้อยคำรุนแรง  ผมไม่มีเจตนาลบหลู่  แต่ต้องการปลุกสำนึกว่าการศึกษาที่เราจัดให้แก่ลูกหลานของเราในเวลานี้นั้น มันผิด มันตกยุค  และเป็นเสมือนทำร้ายเด็ก  เพราะจะไม่ทำให้เด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

หลักสูตรและโรงเรียนแบบเก่าที่ใช้มา ๑๕๐ ปี กำลังถูกท้าทายด้วยโอกาสเรียนรู้แบบใหม่ ที่เรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา โดยทุกคน  ขอให้ตั้งใจมีใจอยากเรียนรู้และเข้า อินเทอร์เน็ตได้

โรงเรียนแบบเก่า เรียนปีละ ๑๘๐ วัน  เด็กต้องแบกเป้หนักอึ้งมาโรงเรียน  เลือกครูไม่ได้ ครูแย่แค่ไหนก็ต้องไปเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด  วิชาไม่น่าสนใจก็ต้องเรียน  โรงเรียนมีสนามเด็กเล่นไม่พอก็ต้องแย่งชิงเอา  อาหารที่โรงอาหารกินไม่ลงก็ต้องกิน ฯลฯ

ที่น่ากังวลสำหรับผม แต่ไม่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ ครูมุ่งสอนวิชาเพื่อให้เด็กสอบผ่าน  ไม่ได้สนใจสอนความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาครบด้านให้แก่เด็ก  เพราะเรื่องนี้ไม่มีการสอบ  เด็กถูกสอนมาก (ตามหลักสูตร) แต่ได้เรียนน้อย  ในขณะที่ประเทศที่การศึกษาคุณภาพดี เขาใช้หลัก สอนน้อย เรียนมาก  และเรียนอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดพัฒนาการครบด้าน

ที่เป็นตัวการแห่งความเสื่อมคือการประเมิน หรือการสอบ ที่เน้นสอบความรู้หรือการท่องจำ  เน้นสอบโดยส่วนกลาง  ที่ทำให้ครูไม่มั่นใจตนเอง ไม่ได้ฝึกฝนการประเมินการเรียนรู้ของเด็กด้วยตนเอง  มัวแต่ลนลานสอนให้ทัน ให้ครบตามหลักสูตร  โดยไม่ได้เอาใจใส่มากนักว่าเด็กได้เรียนหรือไม่  หรือสนใจแต่เด็กที่เรียนเก่งว่าได้เรียนรู้แล้ว  เด็กที่เรียนไม่เก่งครูสอนแล้วก็ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว ที่ไม่รู้เพราะเด็กโง่เอง  นี่คือส่วนหนึ่งของข้อด้อยของโรงเรียนแบบเก่า

ผู้เขียนบอกว่า กฎหมาย No Child Left Behind ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลให้ระบบการศึกษาอเมริกัน เป็นการเรียนเพื่อสอบ  ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการมี สมศ.  และการสอบของส่วนกลางของไทย  ซึ่งก็มีส่วนทำให้การศึกษาไทยเป็นการสอนและเรียนเพื่อสอบเช่นเดียวกัน

การสอบอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน ไม่ทำนายความสำเร็จในชีวิตอนาคตของเด็ก ซึ่งโลกและสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปแบบคาดเดาไม่ได้  เพราะเป็นการทดสอบความรู้ในปัจจุบัน  ไม่ได้ทดสอบทักษะในการเรียนรู้ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ของเด็ก

บริษัท ไอบีเอ็ม ได้สอบถามความเห็นของผู้บริหาร ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของคนในอนาคตคืออะไร  ไม่มีคนตอบว่าคือผลสอบต่างๆ เลย  ปัจจัยที่มีคนตอบมากที่สุดคือ “ความริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถในการจัดการความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของโลก”  จึงเกิดคำถามว่า ระบบการศึกษาที่ช่วยให้เด็กพัฒนาคุณสมบัติที่ต้องการสองข้อนี้เป็นอย่างไร  คำตอบคือ ไม่ใช่โรงเรียนแบบเก่า อย่างแน่นอน

ผู้เขียนไม่โทษครู แต่โทษระบบ  ว่าระบบการศึกษาของอเมริกันไม่ดี  มีผลให้ครูออกจากอาชีพถึงครึ่งหนึ่ง ในเวลา ๕ ปีแรกของการเข้าสู่อาชีพครู

ทำให้ผมหันกลับมาตั้งคำถามต่อระบบของไทย

หนังสือยังบอกอีกว่า หากคิดเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้สูง  ผลการทดสอบสูงลิ่ว  สะท้อนให้เห็นความแตกต่าง หรือช่องว่างทางสังคมอย่างชัดเจน  ช่างเหมือนกับสยามประเทศอะไรอย่างนั้น  ต่างจากประเทศที่ผลการเรียนของเขาดี เช่นฟินแลนด์ ที่โรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพทัดเทียมกัน  และไม่มีการทดสอบจากส่วนกลาง

ในวาทกรรมปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้ ไอซีที เป็นเครื่องช่วยนั้น  มันซ่อนความเชื่อสองแนวไว้อย่างแนบเนียน  คือแนวอนุรักษ์ของเดิม เพิ่มประสิทธิภาพ (และประสิทธิผล) ด้วย ไอซีที  ใช้ไอซีทีช่วยถ่ายทอดเนื้อวิชาแทนครูเป็นส่วนใหญ่  โดยที่ครูผู้ช่วยคอยคุมเครื่อง และบอกเวลาหมดคาบหรือหมดชั่วโมง  และมีครูติวเต้อร์ หรือครูที่ปรึกษาให้นักเรียนบางคน ที่เรียนช้า หรือไม่เข้าใจ  การสอบก็เน้นสอบแบบเขียนเรียงความ  โดยมีการวิจัยพัฒนาเครื่องตรวจข้อสอบแบบเรียงความ ที่สามารถตรวจข้อสอบได้ ๑ หมื่นข้อ (คน) ใน ๑ นาที

ส่วนแนวยกเครื่องการเรียนรู้ใหม่นั้น จะเล่าโดยละเอียดในตอนที่ ๔  จุดสำคัญที่หนังสือเล่มนี้บอกคือ แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสอนเนื้อหาด้วยเครื่อง ไอซีที นั้น  ยังไม่ใช่วิธีการของศตวรรษที่ ๒๑  ที่ผู้เรียนต้องมีอิสระ และมีอำนาจเหนือการเรียนรู้ของตนเอง  เราต้องไม่หลงพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยยังยึดติดที่เนื้อหาอย่างเดิม เพียงแต่เปลี่ยนผู้สอนจากเน้นครู มาเป็นเน้นให้เครื่องสอน  และเวลาสอบก็ยังเน้นสอบเนื้อหาอย่างเดิม เพียงแต่เปลี่ยนข้อสอบจากเน้นปรนัยมาเป็นอัตนัย แล้วใช้เครื่องตรวจ

ในการปฏิรูปการเรียนรู้ มีมายา  หรือการหลอกตัวเอง ทั้งแบบจงใจ และแบบไม่รู้ตัว   ผู้ที่กำลังปฏิรูปการเรียนรู้ไทยพึงตระหนักข้อนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖

 

คัดลอก http://www.gotoknow.org/posts/532821