มีโรงเรียนไปทำไม : 6. ทุกคนต้องเข้ามาร่วมกันเปลี่ยนโรงเรียน

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในเมื่อโรงเรียนในรูปแบบปัจจุบันมันล้าหลัง ตกยุค ไม่สร้าง “ผู้มีการศึกษา” ในนิยามใหม่ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ก่อประโยชน์แก่ลูกหลานเราคุ้มกับเงินที่เสียไป เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 6. ทุกคนต้องเข้ามาร่วมกันเปลี่ยนโรงเรียน

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในเมื่อโรงเรียนในรูปแบบปัจจุบันมันล้าหลัง ตกยุค  ไม่สร้าง “ผู้มีการศึกษา” ในนิยามใหม่ แห่งศตวรรษที่ ๒๑  ไม่ก่อประโยชน์แก่ลูกหลานเราคุ้มกับเงินที่เสียไป เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนโรงเรียนให้ไม่ใช่ที่สอนเพื่อสอบ  แต่เป็นสถานที่นักเรียนมาร่วมกันเรียนรู้จากแหล่งความรู้ที่มีมากมายไม่จำกัด  เพื่อพัฒนาทักษะของการเชื่อมต่อ  การตั้งคำถาม  การค้นหา  การสร้างสรรค์  การขจัดสิ่งที่เรียนมาและเก่าหรือผิดไปแล้ว แล้วเรียนความรู้ใหม่ที่ดีกว่า

เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียน จากเป้าหมายที่แคบ คือวิชาตามที่หลักสูตร (ที่คับแคบและล้าสมัย) กำหนด มาเป็นชีวิตจริงที่มีความไม่ชัดเจน และเชื่อมโยงกว้างขวาง

เปลี่ยนจากเรียนแบบรับถ่ายทอด  มาเป็นเรียนแบบสร้างสรรค์โดยลงมือทำ

เปลี่ยนการเรียนแบบเน้นแข่งขัน เป็นเน้นร่วมมือกันทำงานเพื่อการเรียนรู้  ทั้งร่วมมือกับเพื่อนในชั้นเรียน และร่วมมือกับคนทั้งโลก

เปลี่ยนครู จาก “ครูสอน” ไปเป็น “ครูฝึก”  ที่เรียนรู้แบบวงจร learn, unlearn, relearn ไปพร้อมกันกับศิษย์   ศิษย์ต้องการเรียนรู้อะไร ครูร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน  พร้อมกับทำหน้าที่ โค้ช  และครูรวมตัวกันเรียนรู้วิธีทำหน้าที่ โค้ช

โรงเรียนเปลี่ยนไปเป็นสถานที่ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาเรียนรู้ร่วมกัน  เพื่อเรียนรู้โลก  เป็นสถานที่ที่มีเทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมการฝันใหญ่ของเด็ก และช่วยให้เด็กสร้างสรรค์เพื่อขยายความฝันนั้นได้  เป็นสถานที่ที่การเรียนรู้สนุกสนาน  มีการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แข่งขันกันเรียน  เรียนรู้จากการลงมือแก้ปัญหาใหญ่ ที่คาดว่ามนุษย์จะต้องเผชิญในอนาคต

หากโรงเรียน และครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่แบบใหม่ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนและครูอีกต่อไป

ใครๆ ก็บอกว่า ต้องการให้ลูกเป็นคนรักเรียน  คิดเป็น  แก้ปัญหาได้  แต่การศึกษาปัจจุบันไม่สามารถให้สิ่งนี้ได้  เราจึงต้องช่วยกันสร้าง “โรงเรียน” แบบใหม่  ขึ้นทดแทน “โรงสอน” แบบเดิม  ให้เป็น “โรงเรียน” ที่เชื่อมต่อออกไปเรียนรู้ร่วมกันกับคนทั้งโลกได้  ตามแนวทางที่กล่าวแล้วในตอนที่ ๔

ตามแนวทางในหนังสือนี้ โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากการเรียนสิ่งที่รู้ชัดเจนแล้ว  ไปสู่การเรียนสิ่งที่ยังไม่รู้ชัดเจน และมีความซับซ้อนสูง  คิดแบบนี้ครูและคนในวงการศึกษารับยากมาก

ทุกคนในสังคมจึงต้องเข้ามาร่วมผลักดัน

มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย เช่น A New Culture of Learning โดย Douglas Thomas & John Selley Brown,Who Own the Learning โดย Alan November, The Connected Educator โดย  Sheryl Nussbaum-Beach  เป็นต้น

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖