การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajoncซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี“พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช

ในบทที่ ๔ ของหนังสือชื่อบทคือ Attending to Interconnection, Living the Lessonผู้เขียนคือ Arthur Zajonc เป็นเรื่องความเข้าใจความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (interdependence) ระหว่างมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง แบบไม่รู้ตัว


ความเป็นองค์รวม

เดิมจะเข้าใจอะไร ต้องแยกมาศึกษาเพียงส่วนเดียว  ได้กระบวนทัศน์แยกส่วน  เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์ เราสนใจเพียงอุณหภูมิ  เพราะสมัยก่อนเครื่องมือทำความเข้าใจมีความสามารถต่ำ เราจึงเข้าใจได้เพียงระบบง่ายๆ  เวลานี้เทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำให้เราเข้าใจระบบที่ซับซ้อน และปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เราเข้าใจว่า ภูมิอากาศ  รังมด  เศรษฐกิจ  ระบบประสาท เป็นองค์รวมที่มีความสัมพันธ์ภายในระบบที่ซับซ้อน  ไม่สามารถทำความเข้าใจแบบแยกส่วนได้

แต่คนในปัจจุบัน มักเข้าใจผิดเรื่อง "องค์รวม" ว่าหมายถึงการนำชิ้นส่วนมาประกอบกัน  เช่นระบบสุริยจักรวาล หมายถึงการมีพระอาทิตย์ ดาวเคราะห์ สะเก็ดดาว (asteroids) ดาวหาง ยึดโยงอยู่ด้วยกันด้วยแรงโน้มถ่วง  นั่นเป็นความเข้าใจผิด อันเกิดจากโลกทัศน์แยกส่วนแล้วเอาชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน

“องค์รวม” ที่แท้จริง มีลักษณะสำคัญ ๒ อย่าง คือ entanglement  กับ emergence

entanglement เป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ ที่ผมอ่านในหนังสือไม่ค่อยเข้าใจ  ค้นในวิกิพีเดียก็ยังเข้าใจไม่ชัด  เดาว่าเป็นสภาพที่เมื่ออนุภาค (เช่นโฟตอน) ๒ อนุภาคมาจับคู่กัน จะเกิดสภาพ “องค์รวม” ของสองอนุภาค ที่ไม่ใช่มี ๒ อนุภาคที่เหมือนกันอยู่ด้วยกัน  เป็นสภาพที่พิสูจน์ได้ด้วยการทดลอง

emergence เข้าใจง่ายและอธิบายง่ายกว่ามาก  ด้วยกรณีการรวมตัวกันของอะตอม ไฮโดรเจน (H) กับ อ็อกซิเจน (O)  ได้เป็น H2O คือน้ำ  ก๊าซไฮโดรเจน รวมตัวกับก๊าซอ็อกซิเจน ได้เป็นของเหลว คือน้ำ  เป็น “การผุดบังเกิด” ของคุณสมบัติใหม่ ที่ไม่ใช่ผลรวมของคุณสมบัติเดิม

สรุปได้ว่า “องค์รวม” ที่แท้จริงไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นผลบวกของชิ้นส่วน  แต่มีคุณสมบัติใหม่ผุดบังเกิดขึ้น


การเรียนการสอนว่าด้วยประสบการณ์และความเชื่อมโยง

ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เป็นเวลา ๗๐๐ ปีมาแล้วที่มนุษย์เราสร้างความรู้และเรียนรู้ด้วยยุทธศาสตร์ลดทอนความซับซ้อน (reductionism) ด้วยการแยกส่วน  กระบวนทัศน์แยกส่วน ที่เน้นความรู้สมมติ จึงฝังรากลึกอยู่ในอารยธรรมมนุษย์

แต่บัดนี้อารยธรรมมนุษย์ได้ก้าวมาไกลจนเข้าสู่ยุค “ก้าวข้าม” กระบวนทัศน์แยกส่วน  ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่เป็นองค์รวม  การเรียนรู้ที่ดีจึงต้องทำให้ นศ. เข้าสู่โลกทัศน์องค์รวมได้  โดยวิธีการที่ไม่ยาก คือเรียนโดยการปฏิบัติในสถานการณ์จริง  ซึ่งตามหลักของ 21st Century Learning เรียกว่า Learning by Doing  วิธีการที่ใช้คือ PBL – Project-Based Learning   ก็จะได้ประสบการณ์ และเชื่อมโยงศาสตร์แยกส่วนโดยไม่รู้ตัว

นอกจากเชื่อมโยงศาสตร์แยกส่วนโดยลงมือทำแล้ว  ก็ต้องลงสมองคิดด้วย โดยการทบทวนไตร่ตรองหลังทำ ที่เรียกว่า reflection หรือ AAR (After Action Review)  โดยเอาทฤษฎีหรือความรู้แยกส่วนมาตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำโครงงาน  ก็จะได้เรียนรู้ทั้งมิติที่ลึกของความรู้แยกส่วน และมิติที่เชื่อมโยงของความรู้องค์รวม

ในความเห็นของผม การเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนทั้งความรู้แยกส่วนและความรู้องค์รวม  เรียนเป็นเนื้อเดียวกัน ให้ส่งเสริม (synergy) ซึ่งกันและกันความรู้องค์รวมหรือความรู้บูรณาการอยู่กับชีวิตจริง  ความรู้แยกส่วนอยู่กับวิชา  นศ. ควรได้เรียนทั้ง ๒ อย่าง  แต่ต้องเรียนแบบให้วิชารับใช้หรือสนองชีวิตจริง

ผมขอย้ำว่า การเขียนบันทึกชุดเรียนรู้บูรณาการนี้  ผมไม่ได้เขียนตามหนังสือ The Heart of Higher Education เสมอไป  หลายส่วนผมอ่านหนังสือแล้วเขียนใหม่ตามความเข้าใจของผม  นี่คือการฝึก paraphrasingของผม

การเรียนรู้แบบองค์รวมนี้ จะทำให้ นร./นศ. เข้าใจสภาพความจริงที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (และของธรรมชาติ/จักรวาล)  และรู้ว่าการกระทำโดยตนเองที่เป็นคนตัวเล็กๆ อาจก่อผลยิ่งใหญ่ต่อสังคมได้  ในลักษณะ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อกระพือปีก เกิดลมสลาตัน”(อ่านที่นี่)เข้าใจความเชื่อมโยงถึงกัน (interconnectedness) ระหว่างตนเอง กับผู้อื่น  และในขณะเดียวกัน ก็เข้าใจข้อจำกัดของตน  ว่าตนเป็นเพียงส่วนเล็กนิดเดียวของ “องค์รวม” ที่เรียกว่าจักรวาล

PBL ที่ดีคือ service learning  ซึ่งหมายถึงการให้ทีม นศ. ทำโครงงานที่มีเป้าหมายรับใช้ชุมชน  สังคม  หรือหน่วยงาน  นศ. จะได้เรียนรู้ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพจริงในชุมชน สังคม หรือหน่วยงาน

ครูพึงไตร่ตรอง ปรึกษาหารือ หาทางเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้และวิชาในมหาวิทยาลัยเข้ากับชีวิตผู้คนภายนอก  เกิดความเคารพเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันได้เสมอ  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย กับชุมชนหรือสังคมที่มีคุณค่ายิ่ง

ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  ไม่ว่าในโครงงานใด วิชาใด


ความเป็นสหวิทยาการ และการเรียนรู้ด้วยใจ

ผมอ่านหนังสือตอนนี้แล้วตีความระหว่างบรรทัดว่า  ผู้เขียนต้องการบอกว่า ทุกวิชา สามารถจัดการเรียนรู้ให้เป็นบูรณาการได้  และคิดเองต่อว่า  การเรียนรู้บูรณาการจัดได้อย่างน้อย ๔ แนว  คือ (๑)  เรียนแยกวิชา แล้วครูบูรณาการวิชาให้ นศ. ดู (ฟัง)  หรือครูชวน นศ. อภิปรายว่าวิชาเหล่านั้นบูรณาการในชีวิตจริง หรือสภาพจริงอย่างไร  (๒) เรียนแบบโครงงาน (PBL – Project-Based Learning)  ตามด้วย AAR  และ (๓) ให้ นศ. ฝึกกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา และเขียนบันทึกสั้นๆ ประจำวันว่าวิชาต่างๆ ที่เรียนในวันนั้น ตนได้เรียนเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนในสังคม และชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะชีวิตในอนาคตอย่างไร  (๔) จัดกิจกรรมนอกหลักสูตร หยิบยกประเด็นน่าสนใจ หรือมีข้อถกเถียงในสังคมปัจจุบัน มาทำความเข้าใจและถกเถียงกัน  โดยอาจเชิญวิทยากรภายนอกที่ทำงานในเรื่องนั้นๆ มาให้ข้อมูล

ผู้เขียนแนะนำว่า คนเราควรมีโอกาส หยุด ทบทวน ไตร่ตรอง ชื่นชม ฯลฯ แล้วเขียนบันทึกประจำวัน จนเป็นนิสัยติดตัวไปตลอดชีวิต จะได้เรียนรู้จิตตปัญญา และเรียนรู้บูรณาการ โดยอัตโนมัติเป็นคุณต่อชีวิต และต่อสังคมอย่างยิ่ง

นี่คือกุศโลบาย ที่ช่วยให้การเรียนรู้ “พลังสาม” (สมอง  ใจ  และวิญญาณ) เกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบของการเรียนรู้  ในทุกวิชาที่เรียน  สถาบันอุดมศึกษาไทยน่าจะได้ทดลองเคล็ดลับนี้  และจัดทำเป็นโครงการวิจัยการเรียนรู้ เป็น Scholarship of Instructionและ Scholarship of Learning ในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย

ประเด็นที่ นศ. พึงเข้าใจก็คือ ทั้งความรู้แยกส่วน (เชิงลึก แยกสาขาวิชา)  และความรู้บูรณาการ (สหสาขา) ต่างก็มีคุณค่า  นศ. ต้องเรียนรู้ความรู้ทั้ง ๒ แบบ  และเรียนรู้โดยจัดโครงสร้างความรู้ขึ้นภายในตน ให้พร้อมใช้ทันท่วงทีในสถานการณ์จริง  ในปัจจุบัน (ฝึกฝน) และในชีวิตจริงข้างหน้า


รู้จริงสู่จินตนาการ

การเรียนรู้ต้องนำไปสู่การรู้จริง ไม่ใช่แค่รู้ผิวเผิน หรือรู้เป็นส่วนๆ กระจัดกระจาย  จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ต้องมีการเรียนรู้หลายแบบประกอบกัน  ต้องเรียนโดยตั้งคำถามที่หลากหลาย  เรียนในหลายมิติ  ทั้งจากภายในและจากภายนอก  ให้โลกเปิดเผยต่อตัวผู้เรียนจากหลายฉาก หลายแง่มุม

การเรียนรู้โดยกระบวนการจินตนาการ เป็นสิ่งท้าทาย ทั้งต่อครู (ว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไร)  และต่อ นศ. (ว่าจะฝึกทักษะนี้อย่างไร ให้แก่ตนเอง)   ในชีวิตจริงของผม พบว่าการปรับใจ ปรับบรรยากาศ ให้ตนเองใช้ทั้งจินตนาการ และใช้วิชาการ ให้เสริมส่ง (synergy) กัน เป็นสภวะที่สนุกสนานอย่างยิ่ง

หัวข้อย่อยนี้อาจตั้งชื่อให้โรแมนติก ได้ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แห่งรัก (epistemology of love)  โดยที่คำว่ารัก ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ  เป็นความรักบริสุทธิ์ ด้วยจิตบริสุทธิ์ หรือจิตแห่งพรหม หรือจิตแห่งโพธิ  เมื่อการฝึกจิตไปได้ถึงขั้นนี้ การเรียนรู้จะยกระดับขึ้นไปอีกมิติหนึ่ง

เป็นมิติที่คนธรรมดาฝึกฝนให้ไปถึงได้  ไม่ใช่พรมแดนที่ “คนพิเศษ” หรือ “ผู้วิเศษ” เท่านั้น ที่เข้าถึงได้  เป็นพรมแดนของ “วิธีรู้” (how we know) และ “สิ่งที่รู้” (hay we know) มิติใหม่  คือวิธี ตั้งคำถามด้วยใจอย่างใคร่ครวญ หรือ ใคร่ครวญหาคำตอบ(contemplative inquiry)  ที่เมื่อฝึกฝนอย่างถึงขนาด จิตจะสงบนิ่ง และรับรู้สิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่งได้

เชื่อมโยงสู่วิธีการเรียนรู้ด้วยจินตนาการ (epistemology of imagination)  ซึ่งปฏิเสธรูปธรรม และการแยกตัวระหว่างผู้เรียนกับสิ่งที่เรียนรู้  เปลี่ยนไปเป็นนามธรรมและความใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้เรียนกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้  ใกล้ชิดอย่างสงบและใจถึงกันจนผู้เรียน “ได้ยิน” สิ่งที่ต้องการเรียนรู้ “บอก”  นั่นคือ มีการสื่อสารรับรู้ระหว่างกันในมิติแห่งความลี้ลับ ที่แตกต่างจากการสื่อสารตามปกติ  คือ “สื่อสารด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” (contemplative communication - ผมคิดศัพท์นี้ขึ้นเอง)

คนเราควรได้ฝึกเรียนรู้ทั้งวิธีคิดแบบวิเคราะห์ (analytic)  และวิธีคิดแบบใคร่ครวญ (contemplative)  ให้มีทักษะใช้วิธีคิดทั้ง ๒ แบบ  นำไปสู่ทักษะเรียนรู้บูรณาการ

การเรียนรู้แนว ตั้งคำถามด้วยใจอย่างใคร่ครวญ มีขั้นตอน ๗ ขั้นตอน ตามลำดับ คือ

 

 

 

·  ความเคารพ (respect)  เมื่อเราเคารพความเป็นบุคคลนั้น หรือสิ่งนั้น หรือเหตุการณ์นั้น  เราก็จะไม่ปฏิเสธที่จะรับรู้และเรียนรู้ทุกแง่มุม  เราจะมีพื้นฐานจิตใจที่เปิดรับ

 

 

·  ความละเมียดละไม หรืออ่อนโยน (gentleness) ต่อสิ่งที่ต้องการรับรู้และเรียนรู้  ไม่ใช่เข้า “สะกัด” หรือ “เค้น” เอาความรู้ออกมา

 

 

·  ความใกล้ชิด (intimacy)ซึ่งตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ที่เรียนรู้โดยการแยกตัวออกมาจากปรากฏการณ์ หรือสิ่งของที่ต้องการเรียนรู้  เพื่อให้การเรียนรู้ “เป็นรูปธรรม” (objective)   แต่การเรียนรู้แบบบูรณาการ ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เน้นการเข้าไปสัมผัส และเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์หรือสิ่งนั้น   เพื่อให้ได้ “ข้อมูลจากภายใน”

 

 

·  การยอมรับความเสี่ยง(vulnerability)  จากการที่เราเปิดรับ ซึ่งรวมทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ บุคคล หรือสิ่งของที่เราต้องการเรียนรู้ เราจึงต้องมีท่าที่พร้อมยอมรับความเสี่ยง ความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจน ที่จะต้องเผชิญ

 

 

·  การมีส่วนร่วม (participation)  การเรียนรู้จึงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนรู้ และสิ่งที่ต้องการเข้าไปเรียนรู้  ปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมระหว่างสองฝ่าย จะค่อยๆ เปิดเผยจากชั้นนอก แล้วค่อยๆ ลึกขึ้นๆ ไปสู่ชั้นใน

 

 

·  การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน (transformation) จากการยอมรับสภาพตามความเป็นจริง  และการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  ทำให้สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา เคลื่อนสู่ภายใน  เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานภายในตัวเรา   ตัวเรากับสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้กลายเป็นหนึ่งเดียว

 

 


 

 

การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานหมายความว่า มุมมองต่อโลกต่อชีวิตเปลี่ยนไป

 

 

·  สว่างแจ้งจินตนาการ (imaginative insight) เป็นสภาพการเรียนรู้ตามการรับรู้ใกล้ชิด  เป็นภาพสะท้อนของวิธีตั้งคำถาม และบริบทของคำถาม  เราตระหนักว่าการเรียนรู้นี้เป็นไปตามเงื่อนไข  ที่ครบวงจร ๗ ขั้นตอนของการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ในวงจรแรก  พร้อมที่จะเลื่อนไหลสู่วงจรรอบต่อไป เพื่อความเข้าใจที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น  เป็นวงจรไม่รู้จบ

 

 

จะเห็นว่า การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญนี้ เกิดจากการเข้าไปซึมซับรับรู้อย่างใกล้ชิดมองหลายมุม หลายมิติ เป็นเวลานาน  ค่อยๆ งอกงามความรู้ขึ้นมา  ให้เกิดสภาพ “รู้รอบ รู้ลึก และ รู้จริง”  ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เรียนรู้ได้พรวดพราด

 

 


เมตตากรุณาที่ตื่นรู้

วิธีการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตามหลักสูตร และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย จะค่อยๆ กลายเป็นวิถีชีวิต กลายเป็นจริยธรรม  ผู้เขียนเชื่อว่าการคิดอย่างมีคุณธรรม และการประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เกิดจากการเรียนรู้แบบบูรณาการ  ความเมตตากรุณาจะก่อเกิดขึ้น เมื่อ นศ. ไม่ใช่เพียงเรียนรู้ด้วยปัญญา แต่เรียนรู้ด้วยใจไปพร้อมๆ กัน

ในการเรียนรู้บูรณาการ ครูและ นศ. เรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างใกล้ชิด ทั้งทางใจ หัวใจ และวิญญาณ  ในที่สุดทั้ง นศ. และครูเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕  ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/536232