การจัดการการเปลี่ยนแปลง

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เช้าวันที่ ๒๔ มี.ค. ๕๖ ผมนั่งฟังการอภิปราย “แนวทางปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตให้สอดคล้องกับการศึกษาแพทย์ในศตวรรษที่ ๒๑”  ในการสัมมนาคณะกรรมการประจำคณะ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งไปจัดที่จังหวัดตรัง  ฟังแล้วผมบอกตัวเองว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์อาจารย์ จากการสอนไปสู่การเรียน นั้น ยากจริงหนอ

บ่ายวันที่ ๒๓ ผมบรรยายให้ที่ประชุมฟัง เรื่องทิศทางการศึกษาแพทยศาสตร์ในอนาคต ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง  ตามด้วยการตอบข้อซักถามอีกครึ่งชั่วโมง  และสรุปประเด็นสำคัญคือ ครูต้องเลิกเชื่อว่าถ้าไม่สอนเนื้อสาระวิชา นศ. จะไม่รู้  ต้องออกแบบการเรียนรู้ ให้ นศ. เรียนจากการปฏิบัติและคิดเอง

เช้าวันที่ ๒๔ อ. หมอจิตเกษม ก็สรุปประเด็นสำคัญของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ซ้ำอีก  แต่ก็มีการอภิปรายรายละเอียดไปที่การจัดการสอน  เมื่อประเมินว่า นศ. อ่อนด้านใด วงประชุมก็อภิปรายหาทางจัดชั่วโมงสอน  ผมฟังแล้วรำพึงอยู่ตลอดเวลา ว่าปลดเปลื้องการยึดมั่นถือมั่นการสอนนั้น ทำได้ยากจริงหนอ

ทำให้ผมเกิดความคิดว่า  การปฏิรูปหลักสูตร ต้องทำโดยทีมคนที่ “converted” จำนวนน้อย  เช่น ๑๐ คน ยกร่างกรอบของหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนรู้  เอาเข้ารับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ  แล้วจัด workshop ให้อาจารย์เข้าใจบทบาทใหม่ของตน  และจัดระบบเกื้อหนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่ให้คนที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ เป็นผู้คิดหลักสูตรใหม่

ตามด้วยการวิจัยวัดผล และวัดเปรียบเทียบการลงแรง ลงทุน  ระหว่างการเรียนแบบเดิม กับการเรียนแบบใหม่  ดูว่า มองในแง่ cost-benefit  และ cost-effectiveness แบบไหนดีกว่ากัน

การปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้  ให้เป็น 21st Century Learning ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของง่าย  ต้องการการจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) อย่างมียุทธศาสตร์  และมีการจัดการอย่างชาญฉลาด

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

อาคารที่พัก ประสานใจ ๑  ห้อง บี ๒๐๑  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  หาดใหญ่

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/536616