กัญชาเป็นยา

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลกผ่านการเกษตรแผนใหม่ การเกษตรชนิดที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง และมีคุณค่าสูงต่อมนุษยชาติ สิ่งที่มีคุณค่าสูงมักจะมีอันตรายสูงตามมา เราสามารถเพิ่มคุณค่าลดอันตรายได้โดยการวิจัยสร้างความรู้ให้สังคมรู้จักใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดโทษ และต้องวิจัยและสื่อสารต่อสังคมไทยและต่อโลก เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คน ให้เห็นว่าข้อตกลงระดับโลกหลายอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้อง สมควรได้รับการแก้ไข

ผมเคยเขียนเรื่องกัญชาไว้ที่นี่ บัดนี้นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๒๒ พ.ย. ๕๓ ลงบทความยาว ๑๐ หน้า เรื่อง How Marijuana Got Mainstreamed แสดงให้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็น “แหล่งยารักษาโรคให้แก่โลก”   ไม่ใช่แหล่งผลิตยาเสพติด
เรื่องกัญชาเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าหากเราสามารถสร้าง “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” ได้ด้วยตนเอง   เราจะไม่ต้องตามก้นฝรั่ง   ที่ผ่านมาฝรั่งว่าไม่ดีเราก็ว่าไม่ดีตาม ยอมกำหนดให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย   บัดนี้ฝรั่งเริ่มรู้จักคุณประโยชน์ของมัน   และรู้จักใช้ในทางที่เป็นประโยชน์   เราน่าจะไหวตัวเร็ว   เพราะนี่คือจุดได้เปรียบของเรา
ที่จริงฝิ่นก็เป็นยา ฝิ่นเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นสำหรับผลิตมอร์ฟีน สำหรับใช้เป็นยาแก้ปวดที่ราคาถูกและได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต  แต่เราต้องซื้อยาราคาแพงจากต่างประเทศ   ผลิตเองไม่ได้   ทั้งๆ ที่ภาคเหนือของเราเป็นแหล่งที่เหมาะสมยิ่งต่อการปลูกฝิ่น   และเราเคยปลูกมาแล้ว   ทำไมเราไม่สามารถปลูกฝิ่นเพื่อผลิตมอร์ฟีนขายให้แก่โลก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีง่ายมาก   แต่บริษัทฝรั่งผลิตได้
เวลานี้โลกเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศ์การมองกัญชา จากจากยาเสพติด สิ่งเลวร้าย เป็นยา (medicine) เป็นสิ่งดีที่ช่วยให้ชีวิตไม่ทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ปวด
และสำหรับประเทศไทย แทนที่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชาเป็นเวลานาน เพราะเป็นโรคเรื้อรัง จะต้องซื้อ ควรจะปลูกเองในสวนครัว  ทั้งประเทศน่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านยาแก้ปวดได้เป็นพันล้านบาทต่อปี
โดยต้องมีการวิจัยครบวงจรเพื่อสร้างการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ใช้มันเป็นทาสเรา ไม่ใช่คนตกเป็นทาสมัน
อาจต้องวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายขึ้นมาควบคุมการใช้ ไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด ทำอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น   เราสามารถเริ่มต้นจากการอนุญาตให้ใช้โดยมีการคุมเข้มก่อน อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์สั่งยาให้ใช้กัญชา และมีคำแนะนำวิธีใช้ที่ชัดเจน รวมทั้งบอกอาการไม่พึงประสงค์ที่จะต้องหยุดยาและไปพบแพทย์   ต่อไปเมื่อสังคมรู้จักควบคุมกันเองได้ดีขึ้นก็ค่อยๆ หย่อนการควบคุมลง
เป้าหมายอย่างหนึ่งของการวิจัย คือเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คนในสังคมเกี่ยวกับกัญชา จากเชิงลบเป็นเชิงบวก ที่มีกติกาและจริยธรรมในการใช้ โดยเราสามารถศึกษาจากประสบการณ์ในประเทศอื่นที่นำหน้าไปแล้ว
เวลานี้โลกมีความรู้เกี่ยวกับกัญชามากมาย ที่จะนำมาใช้กำหนดวิธีใช้ที่ให้ผลดี ลดผลร้าย เรารู้ว่าในกัญชามีสารออกฤทธิ์ ๑๐๘ ชนิด และมีมากน้อยต่างกันในกัญชาต่างสายพันธุ์จากต่างแหล่งผลิต  รวมทั้งออกฤทธิ์ต่างกันในต่างคน  ผู้ใข้แต่ละคนจึงต้องลองเองว่าได้ผลดีที่ต้องการหรือไม่
สารออกฤทธิ์สำคัญ ๒ ตัวคือ THC (tetrahydrocannabinol) กับ CBD (cannabidinol)
ความรู้เรื่องการออกฤทธิ์ของกัญชาต่อคนมีมากมาย   รวมทั้งรู้ว่ามันช่วยลดการอักเสบ ซึ่งอาจมีผลช่วยต่อต้านมะเร็ง   แต่ก็มีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าสารออกฤทธิ์ชนิดหนึ่งในกัญชาคือ acetaldehyde มีฤทธิ์ทำลาย ดีเอ็นเอ ทำให้เดาต่อได้ว่าอาจเป็นต้วก่อมะเร็ง
อาการป่วยที่ใช้กัญชามากที่สุดคือปวดอย่างรุนแรงและเรื้อรัง  ร้อยละ ๙๔ ของการใช้กัญชาเป็นยาในสหรัฐอเมริกา ใช้เพื่อบำบัดอาการปวดรุนแรงนี้
คนที่ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องจะติดเพียงร้อยละ ๑๐  ในขณะที่ตัวเลขนี้เท่ากับ ๑๕ ในสุรา และ ๓๒ ในบุหรี่
เราต้องไม่ลืมว่ากัญชา (ทุกสิ่ง) มีทั้งคุณและโทษ  กัญชามีฤทธิ์ลดความสามารถในการรับรู้ (cognitive impairment)  และมีรายงานว่ามีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท   อาการแทรกซ้อนทางจิตนี้พบบ่อยในผู้ใช้กัญชาที่อายุน้อย สมัยผมเด็กๆ เขาเรียกคนที่สติไม่ดีเมื่อเสพกัญชาว่า "บ้ากัญชา"
ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลกผ่านการเกษตรแผนใหม่ การเกษตรชนิดที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง และมีคุณค่าสูงต่อมนุษยชาติ   สิ่งที่มีคุณค่าสูงมักจะมีอันตรายสูงตามมา   เราสามารถเพิ่มคุณค่าลดอันตรายได้โดยการวิจัยสร้างความรู้ให้สังคมรู้จักใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดโทษ   และต้องวิจัยและสื่อสารต่อสังคมไทยและต่อโลก เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คน   ให้เห็นว่าข้อตกลงระดับโลกหลายอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้อง สมควรได้รับการแก้ไข
ประเทศไทยควรมีสิทธิ์ผลิตยาแก้ปวดที่มีคุณค่ายิ่งออกจำหน่ายแก่โลก คือฝิ่น (มอร์ฟีน) และกัญชา
วิจารณ์ พานิช
๑๔ พ.ย. ๕๓

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/413497