การเรียนรู้ที่แท้

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

อ่านหนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ ลำดับที่ ๒ ปี ๒๕๕๖ เรื่อง ความเป็นไปของจิต แล้วสะดุดใจเรื่องการเรียนรู้ที่แท้ในการตีความของท่านพุทธทาส

ท่านบอกว่า (หน้า ๕) “ทีนี้สำหรับผมเองผู้พูดนี่ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่พูดไปตามบันทึก ยิ่งสมัยก่อนๆ โน้นแล้วก็มันรู้เรื่องจิตของตนเองน้อยมาก  ฉะนั้นมันจึงพูดไปตามที่ได้ยินได้ฟัง ได้เล่าได้เรียนมา เคยเป็นครูสอนนักธรรม มันก็สอนตามที่จำได้และตามที่เข้าใจ  ที่สรุปออกมาจากความรู้ตามที่จำได้   ต่อมาเมื่อได้เปลี่ยนไอ้ความรู้ตามที่จำได้ ให้มาเป็นการปฏิบัติตามที่จะทำได้  มันก็เกิดความรู้ธรรมะจากพฤติของจิต  ก่อนโน้นมีแต่ความรู้ที่มาจากการเล่าเรียน การจำ การคิดคำนวณแม้การคิดคำนวณนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ออกมาโดยตรงจากไอ้พฤติในจิต  ต่อเมื่อมาทำการปฏิบัติ มันจึงเกิดความรู้สึกโดยตรงออกมาจากความรู้สึกของจิต  เมื่อมันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เข้ารูปเข้ารอยกันดี มันก็มีความเห็นแจ้ง  แต่ก็มีน้อยเต็มที  ที่ผมพูดไปตั้งมากมายนั้น มันก็มีส่วนที่พูดไปโดยความรู้สึกภายในจิต

ท่านสรุปว่า “เรามีความรู้ แล้วเรามีความรู้สึก แล้วเรามีความเห็นแจ้ง”  ซึ่งผมตีความว่านี่คือการเรียนรู้ ๓ ระดับ

๑.  เรียนจากการได้รับถ่ายทอดต่อๆกันมาได้ความรู้

๒.  เรียนจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองได้ความรู้สึก

๓.  หลังจากได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความรู้สึกจากสัมผัสตรงและมีการไตร่ตรองทบทวนด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นจนถึงจุดหนึ่งได้ความรู้แจ้งแทงตลอด(enlightening)ข้อ ๓ นี้ผมขยายความเองและเชื่อมไปสู่สภาพของการเรียนรู้ที่สมัยใหม่เรียกว่า mastery learning - เรียนแล้วรู้จริง

 

โปรดสังเกตว่าความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหรือรับถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นความรู้แบบผิวเผินยังไม่ถึงรู้จริงต้องเอาความรู้นั้นไปปฏิบัติก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ถึงกับรู้จริงจะรู้จริงต้องปฏิบัติแล้วโยนิโสมนสิการคือไตร่ตรองทบทวน

 

ผมตีความอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

 

 

วิจารณ์  พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540666