ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๙.คณะสี่สหายกินอาหารเยอรมัน

วันศุกร์ที่ 12 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

วันที่ ๓ มิ.ย. ๕๖ คณะสี่สหายนัดกันไปกินอาหารร้าน Bei Otto(www.beiotto.com)ซึ่งอยู่ในซอย ๒๐ ถนนสุขุมวิท  ตรงข้ามโรงแรม วินเซอร์  ที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ทำหน้าที่เสาะหา แถมไปชิมมาก่อน  โดยเลือกตามเกณฑ์ ๒ อย่าง คือ  (๑)เป็นอาหารต่างชาติที่อร่อยและไม่คุ้นเคยเกินไปนัก  ศ. ฉัตรทิพย์บอกว่า ท่านไม่เลือกอาหารฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น เพราะเราคุ้นกันดี(๒) สถานที่ดี ไม่จอแจ นั่งคุยได้

ปรึกษากันว่าคราวหน้าว่าจะเป็นอาหารสแกนดิเนเวีย  ต่อไปเป็นอาหารมองโกเลีย  อิสเรล  เม็กซิกัน  บาหลี  ที่เปิดขายตอนกลางวัน

คุยกันแล้ว ผมสัมผัสนิสัยรอบคอบ ประณีต ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  ท่านบอกว่า ท่านต้องใช้ความพยายามค้นหาทาง อินเทอร์เน็ต  เลือกแล้วไปดูร้าน ลองชิม  โดยต้องชวนคุณจรรยา ภรรยาของท่านไปช่วยชิมและให้ความเห็นด้วย  ผมได้ความคิดว่า คนที่ได้พัฒนานิสัยที่ดีแบบที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ปฏิบัติให้ผมดูเป็นตัวอย่าง โดยที่ท่านไม่รู้ตัว นี้ จะเป็นคนที่มีชีวิตที่ดี มีความสำเร็จในชีวิต

นี่คือส่วนหนึ่งของ “การศึกษา” ที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ

แค่สั่งอาหารก็สนุกแล้วโดยมีคุณเรียม พนักงานผู้ยิ้มแย้มแจ่มใสช่วยแนะนำอาหาร  เพราะพวกเราไม่รู้จัก  ผมรู้จักอย่างเดียวคือ ขาหมูเยอรมัน  และเมื่อผมเอ่ยชื่อขาหมูเยอรมัน ก็มีผลทำให้เราสั่งอาหารจานใหญ่ ที่มีขาหมูเยอรมันและไส้กรอกเยอรมันสารพัดชนิดสั่งมาจานเดียว กินกัน ๔ คน  และสั่ง Goulash soup ชนิด Goulash beef เข้มข้น  แกล้มเบียร์เยอรมัน ที่ ศ. วิชัย บุญแสง เลือกเบียร์ดำ ซึ่งกลิ่นหอมมาก

ตอนท้าย เราสั่งขนมหวานเยอรมัน ๒ อย่างตามคำแนะนำของคุณเรียม มาแบ่งกันกิน  อร่อยทั้งสองอย่าง แต่ผมลืมจดชื่อ

เราแสดงความยินดีกับ ศ. ฉัตรทิพย์ ที่ได้รับรางวัล Special Award of Excellence จาก Thai Ahom Development Council  ของรัฐบาลอัสสัม  ประเทศอินเดีย  โดยคนไทยอีกท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัล คือ รศ. เรณู วิชาศิลป์ซึ่งไปทำวิจัยที่อัสสัมมา 4-5 ครั้งศ. ฉัตรทิพย์ บอกว่าคนไทอาหมมี 2.5 ล้านคนจากประชากรอัสสัม  20 ล้าน  ลักษณะคนคล้ายคนในรัฐฉานเหนือ เวลานี้คนไทอาหมไม่ได้ใช้ภาษาไทในชีวิตประจำวัน ใช้ภาษาอินเดีย  ภาษาไทใช้เฉพาะในพิธีกรรม

ศ. ฉัตรทิพย์เล่าว่า ได้มีการค้นพบจารึกภาษาไทที่เก่ามาก  อาจถึง ๒ - ๓ พันปี เป็นภาษาจ้วง เขียนด้วยตัวอักษรจีน เขียนคำไทยจ้วง เป็นการค้นพบจารึกภาษาไทที่เก่าที่สุด

เนื่องจากคุยกันในร้านอาหารเยอรมัน  ผมจึงอวดขึ้นว่า ในวันเสาร์ที่ ๘ มิ.ย. ผมจะไปประเทศเยอรมัน  ศ. ดร. ฉัตรทิพย์จึงเอ่ยขึ้นบ้างว่า ท่านก็มีแผนจะไปเยอรมัน  อยากไปเยือนเมือง Koenigsbergซึ่งเป็นเมืองของImmanuel Kant แต่เวลานี้ชื่อ Kaliningrad และอยู่ในรัสเซีย  Kant เป็นนักปรัชญา อ่านประวัติของท่านในวิกิพีเดียแล้วผมคิดว่าท่านเชื่อใน ปัญญาปฏิบัติ  มากกว่าปัญญาโดยการคิดเหตุผล

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ กำลังเตรียมจัดทำหนังสือ เพื่อฉลองอายุครบ ๖ รอบ  ได้ต้นฉบับจากมิตรสหายและศิษย์  มาจัดทำหนังสือถึง ๙ เล่ม  และผมได้ร่วมเขียนเรื่อง มนุษยมิติและความเป็นชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่ง ได้รับการจัดให้เป็นเรื่องสุดท้ายในเล่มที่ ๙

ผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาเกียรติยศ เรื่อง"เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้เพื่อชาติ เพื่อ ชุมชน"  ในวันงานฉลอง ๗๒ ปี ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ วันที่ ๓๑ สิงหาคม๒๕๕๖


วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๕๖