ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๓๐. เรียนรู้จากอดีตประธาน สมศ.

วันศุกร์ที่ 12 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บ่ายวันที่ ๑ พ.ค.. ๕๖ ผมมีโอกาสคุยกับ ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ อดีตประธาน สมศ. ที่หมดวาระเพราะอายุครบ ๗๐  ได้มีโอกาสร่วมกัน AAR การทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานอิสระของรัฐ  ท่านบอกว่า ท่านมัวเสียเวลาแก้ปัญหา จนไม่มีเวลาคิดเรื่องใหญ่ๆ

ท่านพูดอย่างนี้ เพราะผมเล่าให้ท่านฟังเรื่องการไปบรรยายเรื่อง คุณภาพการศึกษา และผู้จัดประชุมขอให้ผมพูดโยงไปยังมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา  และผมได้เสนอให้ยุบ สมศ. ดัง บันทึกนี้ โดยผมอธิบายให้ ดร. ชิงชัยฟังว่า ผมมีความเห็นว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาที่เน้น จัดการประเมินระดับชาติ เพื่อประเมินนักเรียนเป็นรายคนนั้น เป็นวิธีที่ผิด  วิธีที่ถูกคือฝึกครู ให้ประเมินเด็กได้แม่นยำ  และมอบอำนาจและความรับผิดชอบในการประเมิน แก่ครูและโรงเรียน  กลไกประเมินในระดับชาติทำหน้าที่พัฒนาและตรวจสอบว่า ครูและโรงเรียน ประเมินได้แม่นยำ น่าเชื่อถือจริงๆ  ดร. ชิงชัยบอกว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ผมเสนอ  และปรารภว่า ตอนที่ท่านเป็นประธาน สมศ. ท่านไม่มีโอกาส คุย หรือพิจารณาเรื่องใหญ่ๆ เชิงสร้างสรรค์แบบนี้เลย  หมดเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร

ทำให้ผมหวนกลับมาคิดว่า ตนเองเป็นคนมีบุญ  ที่ไม่ว่าไปทำงานที่ใด เมื่อจากมา ก็จะทิ้งร่องรอย และผลงานดีๆ ไว้ให้คนที่มาทำต่อ ได้สานต่ออย่างสร้างสรรค์  ไม่มีการสร้างปัญหาไว้ให้คนอื่น

คิดอีกที เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก  หากเรามีศีล ไม่ทำเรื่องที่เป็นการหาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง  และมุ่งทำงานที่ก่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ  ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านจะเห็น และจะเข้ามาช่วยกันทำงาน หรือช่วยสนับสนุน

คิดต่ออีก ผมโชคดี ที่ชีวิตได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานตั้งใหม่ถึง ๓ หน่วยงาน  จึงได้มีโอกาสเรียนรู้ และวางระบบงาน วางวัฒนธรรมองค์กร  คิดถึงทีไรมีความสุขเมื่อนั้น


วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/539260