ปล่อยกลิ่นเต่า ด้วยรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย

วันอังคารที่ 23 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งหนึ่ง มีการนำเสนอรายงานประจำปี ๒๕๕๕ อย่างมีรายละเอียดครบถ้วนและสะท้อนผลสำเร็จของมหาวิทยาลัยอย่างดีมาก

แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ แนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยชั้นดีอย่างนั้น ต้องจัดพิมพ์รายงานประจำปีที่มีบุคลิกแตกต่างออกไป  คือต้องแสดงทิศทางเป้าหมายที่ใฝ่ฝันให้ชัดเจน  และบอกว่าเดินมาถึงไหนแล้ว  มีผลงานอะไรที่น่าภาคภูมิใจตามทิศทางเป้าหมายนั้น  และจะดำเนินการอะไร/อย่างไร ต่อไปอีก

รายงานประจำปีชิ้นนี้ เน้นความครอบคลุม  และจัดทำแบบราชการ โชว์ input & process และผู้บริหาร ในเบื้องต้น  output มาทีหลัง  และยังไม่แยกแยะ output ที่เด่นเป็นพิเศษ ตามปณิธานความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย

คำแนะนำของกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แสดงปณิธานความมุ่งมั่นที่ชัดเจนออกมาเช่นนี้ สำหรับผม คิดว่าเป็นการปล่อยเสน่ห์ หรือ pheromones ให้ partners หรือภาคีความร่วมมือ “ได้กลิ่น”  ดึงดูดเขาเข้ามาหา

ผลการวิจัยบอกว่า กลิ่นเต่า ของคน คือตัวดึงดูดเพศตรงข้าม  เป็นการดึงดูดแบบไม่รู้ตัว  ไม่ได้ใช้สมอง แต่ผ่านระบบฮอร์โมนหรือระบบสารเคมี

สมัยนี้ มหาวิทยาลัยต้องมีวิธีดึงดูด partners ที่จะร่วมมือกัน  เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มหาวิทยาลัยต้องไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยว  ต้องหาทางร่วมมือกับภาคีที่หลากหลาย  ทั้งภาคีที่เป็นผู้ใช้/จ้าง บัณฑิต  ภาคีวิจัย/พัฒนา  และภาคีในต่างประเทศ เพื่อสร้างทักษะนานาชาติให้แก่ นศ./บัณฑิต

วิธีปล่อยเสน่ห์ (pheromones) ของสถาบันอุดมศึกษา ทำโดยสื่อสารผลงาน  วิธีนี้มหาวิทยาลัยไทยถนัด  โดยบางครั้งก็สื่อสารแบบโอ้อวดเกินจริง

วิธีที่มหาวิทยาลัยไทยไม่ถนัด คือวิธีปล่อยเสน่ห์ด้วยปณิธานความมุ่งมั่น หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่  ผสมกับหลักฐานว่า มีทั้งฝันและทั้งทำจริง มีผลงานจริง  ไม่ใช่ฝันลมๆแล้งๆ  ช่องทางของการปล่อยเสน่ห์แบบนี้ มีทั้งในรายงานประจำปี  ในเว็บไซต์  และในสื่อมวลชน  รวมทั้งต่อนักวิชาการ หรือผู้สนใจ ที่มาเยี่ยมเยือน

คน/สถาบันอุดมศึกษา ที่ถือว่า “มีดี” นั้น  ไม่ใช่อยู่ที่ผลงานเท่านั้น  แต่อยู่ที่เป้าหมายหรือความฝันที่ยิ่งใหญ่ บวกกับความมานะบากบั่นที่จะบรรลุจัดหมายที่ยากนั้น  “ของดี” เช่นนี้ ต้องหาทางให้มันขจรขจายออกไปแบบเดียวกับ pheromones หรือ “กลิ่นเต่า”

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/543253